คลัง-พม. ยัน ครม.เศรษฐา 1 ไม่ล้ม “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

05 ก.ย. 2566 | 09:36 น.

เช็คความชัดเจนนโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รัฐบาล “เศรษฐา 1” รัฐมนตรี คลัง และ พม. ยืนยัน แล้วไม่มีล้ม เช็ครายละเอียดคำยืนยันที่ชัดเจนของแต่ละคนให้ความเห็นว่าอย่างไร รวมไว้ที่นี่ครบ

กลายเป็นข้อวิตกกังวลของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับสิทธิผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพในรัฐบาลก่อน อาจไม่ได้ไปต่อในรัฐบาล “เศรษฐา 1” ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ล่าสุดในวันนี้ (5 กันยายน 2566) ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความชัดเจนในเรื่องของ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” กับรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ เสร็จ โดยได้รับคำตอบถึงนโยบายนี้แล้ว 

โดย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าว่า กระทรวงการคลัง ยังคงนโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ไว้อย่างแน่นอน เพื่อช่วยดูแลผู้มีรายได้น้อยต่อไป ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่อง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เช่นกันว่า กระทรวงการคลัง จะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ 

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยืนยันด้วยว่า นโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นการช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ยังได้รับความเดือดร้อน หากยกเลิกนโยบายนี้ลงไปจะทำให้เกิดผลกระทบได้

ขณะเดียวกันในการช่วยเหลือค่าครองชีพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งเบี้ยยังชีพต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กแรกเกิด ที่เป็นผู้มีรายได้น้อยและได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 มาก่อนนั้น ยังคงต้องดูแลต่อไปด้วยเช่นกัน

“นโยบายที่ดีที่ดูแลประชาชน และผู้มีรายได้น้อยนั้น นโยบายของรัฐบาลชัดเจนว่าจะยังคงช่วยเหลือดูแลต่อไป เพราะถ้าไปยกเลิกคงทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้รับความเดือดร้อน” นายวราวุธ กล่าว

ก่อนหน้านี้ ฐานเศรษฐกิจ ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "งบสวัสดิการภาครัฐ" ที่จัดสรรให้กับกลุ่มต่าง ๆ จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง พบว่า ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการที่สำคัญ 6 เรื่องวงเงินรวม  428,683.77 ล้านบาท ดังนี้

  • เบี้ยเด็กแรกเกิด(0 –6 ปี) จำนวน 2.58 ล้านคน วงเงิน 16,321.18 ล้านบาท
  • เรียนฟรี 15 ปี จำนวน 10.8 ล้านคน วงเงิน 79,151 ล้านบาท
  • บัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ จำนวน 13.4 ล้านคน วงเงิน 35,514.62 ล้านบาท
  • ระบบประกันสังคม จำนวน 24.34 ล้านคน วงเงิน 48,514.2 ล้านบาท
  • ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 47.73 ล้านคน วงเงิน 161,602.67 ล้านบาท
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 11.03 ล้านคน วงเงิน 87,580.10 ล้านบาท