“คลัง” รื้อ 20 ภาษี เพิ่มรายได้รัฐ 6 กระทรวงเศรษฐกิจ ชงแก้ปัญหาเร่งด่วน

30 ส.ค. 2566 | 09:59 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2566 | 01:37 น.

6 กระทรวงเศรษฐกิจ เดินหน้าเสนอเรื่องเร่งด่วนรัฐบาลใหม่ ชงปฏิรูปภาษี 20 รายการ เก็บภาษีขายหุ้น ภาษีสิ่งแวดล้อม คมนาคม ดันประมูลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง พลังงานจี้คลอดแผนพลังงานชาติ เกษตรเตรียมรับมือภัยแล้ง 16.5 ล้านไร่ อัดมาตรการกระตุ้นรับนักท่องเที่ยว 29 ล้านราย

การจัดตั้งรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยเฉพาะความชัดเจนในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หนี้ และคาดว่าจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ไม่เกินกลางเดือนกันยายน 2566 หลังจากนั้นถือเป็นการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของบรรดารัฐมนตรีสังกัดกระทรวงต่างๆ อย่างเต็มตัว

ในช่วงสุญญาณกาศนับตั้งแต่ยุบสภาฯในเดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา ทำให้การดำเนินงานของรัฐบาลรักษาการหยุดชะงัก ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่จะมาแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน รวมทั้งการผลักดันโครงการ/กิจกรรมต่างๆ พลอยชะงักงันตามไปด้วย

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้ว กระทรวงต่าง ๆ โดยเฉพาะกระทรวงที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ จึงต้องเสนอเรื่องเร่งด่วนให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าต่อไปได้ไม่สะดุด

“คลัง” รื้อ 20 ภาษี เพิ่มรายได้รัฐ 6 กระทรวงเศรษฐกิจ ชงแก้ปัญหาเร่งด่วน

  • คลังรื้อโครงสร้างภาษี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอแผนปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลใหม่ ทั้งการเพิ่มรายได้และการลดรายจ่าย เพื่อสร้างความสมดุลทางการคลัง ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปี 2567-2570) ซึ่งแผนปฏิรูปภาษีมีกว่า 20 รายการ เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร

 หนึ่งในแผนการปฏิรูปภาษี ได้แก่ ทบทวนการลดหย่อนภาษีในหลายๆ รายการ เช่น การใช้มาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน ที่ช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนมานานหลายปีแล้ว อาจจะมีการทบทวนส่วนนี้ด้วย หรือภาษีขายหุ้น ของกรมสรรพากร ที่ยังรอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่

 นอกจากนี้ มีแผนการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว โดยกรมสรรพสามิตได้เสนอจัดเก็บภาษีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีคาร์บอน และภาษีแบตเตอรี่

 อีกทั้ง การต่ออายุมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยจะมีการของบอุดหนุนแพ็คเกจอีวีเพิ่มเติม หลังงบประมาณที่อนุมัติไป 2,900 ล้านบาท จะหมดภายในสิ้นเดือนกันยายน 2566 นี้ เพื่อสนับสนุนต่อผู้ซื้อรถยนต์อีวีโดยตรง

 แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังได้เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ปรับโครงสร้างภาษีสุราและเบียร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และตรงกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดเก็บภาษีไม่ตรงพิกัดหลายรายการ เช่น โซจู เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 0% เป็นต้น

 ขณะที่โครงสร้างภาษีบุหรี่ กรมสรรพสามิตจะเสนอให้ปรับการจัดเก็บภาษีเป็นอัตราเดียว ตามหลักการขององค์การอนามัยโลก (WHO) หลังจากปัจจุบันเก็บใน 2 อัตรา คือ บุหรี่ราคาตั้งแต่ซองละ 72 บาทขึ้นไป จัดเก็บภาษีอัตรา 42% ส่วนบุหรี่ราคาซองละตํ่ากว่า 72 บาท เก็บภาษีอัตรา 25% และจัดเก็บ ภาษีมวนละ 1.25 บาท เป็นต้น

  • คมนาคมดันรถไฟฟ้า

 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ระยะทาง 554 กิโลเมตร จำนวน 14 สาย ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2575 โดยในปี 2572 จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 80% ของทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ

ทั้งนี้ มีโครงการรถไฟฟ้าเร่งด่วนที่จะต้องเสนอครม.พิจารณา ประกอบด้วย รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,754 ล้านบาท เพื่อของบประมาณแต่ละโครงการ ประกอบด้วย 1.ช่วงตลิ่งชัน -ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 10,670 ล้านบาท 2. ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,616 ล้านบาท และ 3.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,468 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 โครงการ คาดว่าจะดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการ 2570

 ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ผ่านมานั้น จะนำเสนอครม.ชุดใหม่ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2566 นี้ และจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีได้ภายในระยะเวลา 3 ปีครึ่ง

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเสนอครม. เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันกทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ยังติดปัญหาภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานการซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ ประมาณ 78,830 ล้านบาท รวมทั้งยังมีภาระหนี้ที่ค้างจ่ายค่าเดินรถกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ (บีทีเอส) วงเงินกว่า 50,000 ล้านบาท จนถูกเอกชนฟ้องร้องคดี 2 ครั้ง

  • เร่งคลอดแผนพลังงานชาติ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่จะเสนอให้รัฐบาลใหม่ จะเป็นเรื่องของการจัดทำแผนพลังงานชาติ ที่จัดทำเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และนำเสนอต่อครม.พิจารณาอนุมัติ ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าวจะมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพีฉบับใหม่รวมอยู่ด้วย ซึ่งจะนำมาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านพลังงานของประเทศต่อไป โดยเฉพาะการวางแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาพลังงานสะอาด

อีกทั้ง เสนอแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับความต้องการในช่วงปี 2567 และการวางแผนจัดหาก๊าซระยะยาว ที่มีความจำเป็นให้รัฐบาลเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหรือ OCA พร้อมทั้ง รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ที่เปิดประมูลไปเมื่อช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านา เพื่อนำไปสู่การลงนามซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

รวมถึงการพิจารณาเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนฯ ระยะที่ 2 ปริมาณรับซื้อเพิ่มเติมอีก 3,668.5 เมกะวัตต์

ขณะที่การลดราคานํ้ามันและค่าไฟฟ้านั้น จะรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบ ถึงสถานะกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงที่ยังติดลบอยู่ รวมถึงสถานะเงินค้างจ่ายค่าเอฟที ที่ยังติดค้างกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกราว 1.1 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับลดราคาพลังงานต่อไป

  • เกษตรรับมือภัยแล้ง

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมความพร้อมการดำเนินงานของ 22 หน่วยงานในสังกัด ที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลแล้ว โดยเฉพาะวาระเร่งด่วน อาทิ “ภัยแล้ง” ที่จะเกิดขึ้นได้คาดการณ์พื้นที่เกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2566/67 รวมประมาณ 16.51 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน ลุ่มเจ้าพระยา รวม 22 จังหวัด พื้นที่ 7.34 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง รวม 60 จังหวัด พื้นที่ 9.17 ล้านไร่ โดยเสนอแผนการบริหารจัดการนํ้าในช่วงที่จะประสบภัยแล้งข้างหน้า ส่งเสริมปลูกพืชระยะสั้น หรือเลี้ยงปศุสัตว์ที่ใช้นํ้าน้อย

รวมถึงการปรับขึ้นราคานํ้านมดิบให้เกษตรกร 2.25 บาทต่อกิโลกรัม ที่ยังค้างอยู่หากปรับราคาขึ้นกลุ่มผู้ประกอบการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนจะได้รับผลกระทบ ก็ต้องปรับเพิ่มราคากลาง ใหม่อีก 15 สตางค์/กล่อง/ถุง

นอกจากนี้ ต้องดูแลราคาพืชผลผลิตของภาคเกษตรที่ตกตํ่า อย่างราคายางพารา ซึ่งเกี่ยวข้องกับตลาดโลก จะต้องนำเสนอรัฐบาลว่าจะมีนโยบาย อะไรที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ส่วนปศุสัตว์ ที่เป็นปัญญาอยู่เวลานี้ เป็นเรื่องของการลักลอบนำเข้าโค ตามแนวชายแดนแม่สอด แม่ฮ่องสอน มีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง จะต้องบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกัน

ดันมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว

นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงท่องเที่ยวฯ จะเสนอ 3 เรื่องเร่งด่วนหลัก ได้แก่ 1.มาตรการเร่งด่วนในการกระตุ้นการท่องเที่ยว ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ เพื่อผลักดันให้ได้เป้าหมายนักท่องเที่ยว 28-29 ล้านคน ซึ่งในขณะนี้เข้ามาแล้ว 17 ล้านคน จะเน้นทำตลาดเชิงรุกในตลาดหลักๆอย่าง จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หากรัฐบาลมีนโยบายฟรีวีซ่า จีน อินเดีย ก็จะตอบโจทย์ในเรื่องนี้ รวมถึงกระตุ้นตลาดระยะไกลอย่างยุโรปในช่วงไฮซีซั่นนี้

2.การจัดทำแผนดำเนินการตามนโยบาย 8 ข้อด้านการท่องเที่ยวของพรรคเพื่อไทย และ 3.การนำเสนอแผนและโครงการของหน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะการกระตุ้นการท่องเที่ยวในปี 2567 ตามเป้าหมายการสร้างรายได้กลับมาเท่าปี 2562 คือมีรายได้ 3 ล้านล้านบาท

พาณิชย์เร่งทำเอฟทีเอ

 นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯได้เตรียมประชุมกับผู้บริหาร เพื่อเตรียมแผนงานที่จะเสนอให้กับรัฐมนตรีใหม่ 5 เรื่องเร่งด่วน 1.เรื่องปากท้อง ลดค่าครองชีพ 2.ราคาสินค้าเกษตร ภัยแล้ง 3.การส่งออก จะทำอย่างไรในช่วงที่เหลือให้ได้ตามเป้าหมายขยายตัวทั้งปี 1-2% 4.การเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลและตามที่เอกชนต้องการให้มีการผลักดัน และ 5.การเสริมสร้างความแข็งแกรงให้เศรษฐกิจฐานราก โดนเฉพาะ SME

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3918 วันที่ 31 สิงหาคม – 2 กันยายน พ.ศ. 2566