เฮ! ปลดล็อกพื้นที่ป่าชายเลน 352 ไร่ 11 จังหวัด เป็นที่อยู่อาศัย

09 ส.ค. 2566 | 23:03 น.

ครม.ไฟเขียวแล้ว ให้เอาที่ดินที่เป็นป่าชายเลนกว่า 352 ไร่ ใน 11 จังหวัด ไปจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชน โดยยกเว้นมติครม.หลายฉบับ แนะพัฒนาอาชีพให้ชาวบ้านไม่เข้าไปบุกรุกป่าชายเลนเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ยกเว้นมติครม.หลายฉบับ เพื่อดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยนำที่ดินที่เป็นป่าชายเลนเนื้อที่รวม 352-0-61.51 ไร่ ไปดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน ในท้องที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง ตราด พังงา ภูเก็ต ระนอง ระยอง และสมุทรปราการ จำนวน 62 พื้นที่ เนื้อที่รวม 352-0-61.51 ไร่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน มีมติเห็นชอบการกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชนในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 จำนวน 18 พื้นที่ 6 จังหวัด เนื้อที่ 115-2-98.81 ไร่ 
  • คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน มีมติเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชนเพิ่มเติมในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 จำนวน 44 พื้นที่ 9 จังหวัด เนื้อที่ 236-1-62.70 ไร่ 

 

ภาพประกอบข่าว มติครม. ปลดล็อกพื้นที่ ป่าชายเลน

สำรวจรังวัดและขึ้นรูปแปลงแล้ว

การดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชน ในพื้นที่ป่าชายเลนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะต้องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนก่อน ซึ่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงพื้นที่สำรวจรังวัดและขึ้นรูปแปลงแล้ว 

โดยพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ไม่ทับซ้อนกับพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น

รวมทั้งไม่กระทบต่อการปฏิบัติตามกฎหมายในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น และเมื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายแล้ว เจ้าหน้าที่จะลงสำรวจพื้นที่ร่วมกับผู้นำหรือผู้แทนชุมชนผู้ที่อยู่อาศัยใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นผู้นำตรวจและนำชี้เป็นรายแปลง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อม กรณีการดำเนินการโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน พ.ศ. 25567 

โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐที่เข้าใช้ประโยชน์ป่าชายเลนต้องจัดสรรงบประมาณให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลนทดแทน ไม่น้อยกว่า 20 เท่า ของพื้นที่ป่าชายเลนที่ใช้ประโยชน์

 

ภาพประกอบข่าว มติครม. ปลดล็อกพื้นที่ ป่าชายเลน

จัดที่ดินให้ชุมชนแล้ว 16,042 ไร่

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แจ้งว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์แล้ว (ทำกินหรืออยู่อาศัย) จำนวนรวม 21 จังหวัด เนื้อที่รวม 16,042-2-18.29 ไร่ รวม 180 ชุมชน 9,279 ครัวเรือน

ขณะที่ รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2565 ระบุว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ จำนวน 1.73 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 2 แสนไร่ แสดงให้เห็นว่าแม้ภาครัฐจะดำเนินนโยบายการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลนไปแล้วกว่า 16,042 ไร่ แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อการลดลงของพื้นที่ป่าชายเลน คงสภาพซึ่งเป็นป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์แต่อย่างใด 

ทั้งนี้เนื่องจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า พื้นที่ป่าชายเลนที่นำมาจัดสรรใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ยังไม่เคยให้ข้อมูลแก่คณะรัฐมนตรีว่า จะต้องมีการจัดที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อการอยู่อาศัยให้แก่ชุมชนเพิ่มเติมอีกมากน้อยเพียงใด 

ดังนั้นหาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จะเสนอขอยกเว้นมติครม. เพื่อจัดที่ดินในลักษณะนี้อีก ก็ควรนำเสนอแผนการจัดที่ดิน เพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลนที่มีเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในคราวเดียวกันด้วย

ความเห็นของหลายหน่วยงานรัฐ

สำนักงบประมาณ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และคัดกรอง คุณสมบัติของราษฎรเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามหลักเกณฑ์ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเห็นชอบอย่างเคร่งครัด 

รวมถึงการกำหนดให้มีมาตรการในการคุ้มครองและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการตามเป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนดังกล่าวด้วย 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพ และภูมิสังคมของพื้นที่โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อให้ราษฎร ที่ได้รับการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวและไม่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต 

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นเพิ่มเติมว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ควรกำหนดให้ชุมชน ที่ได้รับอนุญาตให้ทำกินในป่าชายเลนดังกล่าวมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้มากขึ้นจากที่เป็นอยู่ด้วย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ป่าชายเลนเป็นไปอย่างยั่งยืน รวมทั้งเห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไป อันเป็นข้อห้ามตามมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย