สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อมความท้าทายใหม่ผู้ส่งออกสินค้ายางพารา

29 มิ.ย. 2566 | 04:28 น.

สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อม สนค.แนะผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ปรับตัวรับความท้าทาย ปี65 ไทยส่งออกสินค้ายางฯ ที่2ของโลก รองจากจีนที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง15.5%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แนะเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกสินค้ายางพาราเร่งปรับตัวรับมือกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตร

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

  ทั้งนี้ไทยเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก ในปี 2565 มีผลผลิตยางพารา 4.8 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ33% ของผลผลิตยางโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้ายางและผลิตภัณฑ์ อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสินค้ายางพาราของไทยกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่โลกมีการแบ่งขั้ว ประเทศต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเองมากขึ้น สหรัฐฯ มีความก้าวหน้าในการพัฒนายางธรรมชาติจากพืชทางเลือก ได้แก่ วายยูลี ซึ่งมีจุดเด่น คือ ไม่มีโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้

สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อมความท้าทายใหม่ผู้ส่งออกสินค้ายางพารา

เหมาะสำหรับผลิตถุงมือทางการแพทย์ ถุงยาง และสามารถปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้ง และแดนดิไลน์ มีจุดเด่น คือ การสกัดยางจากแดนดิไลน์ ใช้น้ำร้อนเป็นตัวทำละลาย จึงทำให้ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากยางธรรมชาติจากพืชทางเลือกอื่น สามารถทดแทนยางพาราได้ดี และมีความคุ้มค่าด้านต้นทุน ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยในอนาคต

สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อมความท้าทายใหม่ผู้ส่งออกสินค้ายางพารา

ในประเด็นสิ่งแวดล้อม การผลิตยางอย่างยั่งยืนเป็นเทรนด์สำคัญของโลก ซึ่งหมายถึง ผู้ผลิตจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสวัสดิการคนงานและชุมชน ซึ่งการผลิตยางอย่างยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้น ตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก มีนโยบายรับซื้อน้ำยางที่ได้จากสวนยางพาราที่ได้รับการรับรองว่ามีการจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งองค์กรที่ให้การรับรองจะต้องเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ เช่น Forest Stewardship Council (FSC) ซึ่งไม้และผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย FSC เป็นการรับประกันว่า มาจากป่าที่มีการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักการ คือ มีการปลูกไม้แบบยั่งยืน หรือองค์กร Programe for the Endorecement Forest Certification (PEFC) โดย PEFC จะทำหน้าที่เป็นองค์กรแม่ข่าย ให้การประเมินและให้การยอมรับระบบการรับรองป่าไม้ระดับประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดมาตรฐานประเทศเกี่ยวกับการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (มอก.14061) และมาตรฐานห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (มอก. 2861) ซึ่งเทียบเท่ากับมาตรฐาน PEFC

สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อมความท้าทายใหม่ผู้ส่งออกสินค้ายางพารา

แนวโน้มการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ยังส่งผลให้เพิ่มการใช้ยางรีไซเคิล โดยมีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ช่วยลดขยะ ลดการผลิตยางบริสุทธิ์ที่ต้องใช้ทรัพยากรมากกว่า ซึ่งการผลิตยางบริสุทธิ์จะใช้น้ำในปริมาณมากเพื่อชะล้างสิ่งสกปรก และหากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี น้ำเสียจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายบริษัทมีการพัฒนาสินค้าจากยางรีไซเคิล เช่น ไนกี้ใช้ยางรีไซเคิลในพื้นรองเท้า และบริดจ์สโตนพัฒนายางรถยนต์จากยางรีไซเคิล เป็นต้น

สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อมความท้าทายใหม่ผู้ส่งออกสินค้ายางพารา

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2566 กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-Free Products Regulations) หรือ EUDR ของสหภาพยุโรป (อียู) จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งครอบคลุมสินค้ายางและผลิตภัณฑ์ (EUDR ครอบคลุมสินค้าเกษตร 7 รายการ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน วัว ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ไม้ และยาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสินค้าเกษตรดังกล่าว) โดยจะมีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 18 เดือน (จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567) สำหรับผู้ประกอบการก่อนดำเนินการตามกฎหมาย EUDR และอียูจะมีการประเมินประเทศคู่ค้า

สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อมความท้าทายใหม่ผู้ส่งออกสินค้ายางพารา

โดยจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ กลุ่มความเสี่ยงสูง (High Risk) กลุ่มความเสี่ยงมาตรฐาน (Standard Risk) และกลุ่มความเสี่ยงต่ำ (Low Risk) ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้า โดยเริ่มแรกอียูจะจัดให้ทุกประเทศอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงมาตรฐานก่อน และภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 จะประกาศรายชื่อประเทศที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง และความเสี่ยงต่ำ

สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อมความท้าทายใหม่ผู้ส่งออกสินค้ายางพารา

สินค้ายางพาราของไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยรอบด้าน จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้า เริ่มตั้งแต่การทำสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางให้มีมูลค่าสูงขึ้น เน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ใช้เทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ ให้มีการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น วัสดุภัณฑ์ก่อสร้างบ้านและอาคาร เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อมความท้าทายใหม่ผู้ส่งออกสินค้ายางพารา

ในด้านการตลาด จะต้องทำการตลาดเชิงรุก เน้นความต้องการเฉพาะของแต่ละตลาด มีการทำวิจัยด้านการตลาด รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค เพื่อระบุโอกาสและความท้าทาย ซึ่งนอกจากตลาดส่งออกหลักที่ไทยมีอยู่เดิม (เช่น จีน สหรัฐฯ มาเลเซีย และญี่ปุ่น) ยังมีตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสำหรับสินค้ายางพารา เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นต้น

สงครามรัสเซีย-มาตรการสิ่งแวดล้อมความท้าทายใหม่ผู้ส่งออกสินค้ายางพารา

ทั้งนี้ ในปี 2565 โลกมีการส่งออกสินค้ายางและผลิตภัณฑ์ (พิกัดศุลกากร 40) เป็นมูลค่ารวม 217,730.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก คือ  จีน ส่งออกเป็นมูลค่า 31,472.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีส่วนแบ่งตลาด15.5%    ไทย ส่งออกเป็นมูลค่า 18,824.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีส่วนแบ่งตลาด8.6%    เยอรมนี ส่งออกเป็นมูลค่า 17,459.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีส่วนแบ่งตลาด 8%   สหรัฐฯ ส่งออกเป็นมูลค่า 14,656.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีส่วนแบ่งตลาด6.7%  และ  ญี่ปุ่น ส่งออกเป็นมูลค่า 10,712.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาด 4.9 %