"ส.อ.ท." ห่วงภาคการผลิตแย่หลัง"ส่งออก"ร่วงยาว 8 เดือน

28 มิ.ย. 2566 | 07:25 น.

ส.อ.ท. ห่วงภาคการผลิตแย่หลังส่งออกร่วงยาว 8 เดือน เผยภาพรวมการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าในช่วง ม.ค.-พ.ค. 66 ส่วนใหญ่มีทิศทางหดตัว แม้มีบางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถรักษาระดับการส่งออกได้

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 30 ในเดือนมิถุนายน 2566 ภายใต้หัวข้อ “การส่งออกหดตัว กระทบอุตสาหกรรมแค่ไหน” พบว่า ผลจากตัวเลขการส่งออกของไทยที่ส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. 210 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า 

ภาพรวมการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 ส่วนใหญ่มีทิศทางหดตัว ถึงแม้จะมีบางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถรักษาระดับการส่งออกไว้ได้ โดยปัจจัยสำคัญมาจากคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว 

โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และอาเซียน นอกจากนี้ภาวะต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังคงส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งช่วยกระตุ้นการส่งออก และบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว โดยเฉพาะการออกมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ อาทิ ค่าไฟฟ้า พลังงาน ค่าโลจิสติกส์ การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 

ส.อ.ท. ห่วงภาคการผลิตแย่หลังส่งออกร่วงยาว 8 เดือน

และการส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในเอฟทีเอฉบับเดิมให้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเป้าหมายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ การจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ 

สำหรับการสำรวจมี 5 คำถาม ประกอบด้วย 

  • ยอดการส่งออกสินค้าในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 ส่วนใหญ่ทิศทางทรงตัว 27.7% และลดลงมากกว่า 20% คิดเป็น 23.3%
  • ตลาดประเทศคู่ค้าไทยที่มีผลต่ออุตสาหกรรมส่งออกสินค้ามากที่สุด คือ เอเชียไม่รวมอาเซียน 36.2% 
  • ปัจจัยภายในเรื่องใดที่ทำให้การส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมหดตัว คือ ภาวะต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 69.5%
  • ปัจจัยภายนอกที่ทำให้การส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมหดตัว คือ คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว 71.4% 
  • ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้ภาครัฐกระตุ้นการส่งออก และบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว ด้วยการออกมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ อาทิ ค่าไฟฟ้า พลังงาน ค่าโลจิสติกส์ 80.0%