ชำแหละ วงจรอุบาทว์ “ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก” เซ่นเจ้าหน้าที่รัฐ

07 มิ.ย. 2566 | 02:43 น.

สแกน วงจรอุบาทว์ “ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก” กับปัญหาหาเรื้อรัง 40 ปี เซ่นเจ้าหน้าที่รัฐ กระทบโครงข่ายถนน-สะพาน เสียหาย ฟากทางหลวง ควักเงินซ่อมถนน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ที่ผ่านมาพบว่าปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" และการคอรัปชัน เป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในสังคมไทยมากกว่า 30-40 ปี อีกทั้งราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น จนเกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง ส่งผลให้ในปัจจุบันเกิดการบรรทุกน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนดอย่างแพร่หลาย รวมถึงส่วยรถบรรทุกที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังการทุจริตในครั้งนี้

พบส่วยรถบรรทุกสารพัดแบบ

ปัจจุบัน พบว่ามีส่วยรถบรรทุกที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ เช่น สติ๊กเกอร์ส่วย โดยเป็นการจ่ายส่วยรถบรรทุกในราคาเหมาจ่าย จากนั้นจะได้รับสติกเกอร์ เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดได้ ซึ่งราคาเหมาจ่ายนี้มีตั้งแต่ราคา 2,000-27,000 บาทต่อคันต่อเดือน หากจ่ายในราคา 25,000-27,000 บาทต่อคันต่อเดือน จะสามารถวิ่งได้ทุกโครงข่ายถนนทั่วประเทศ

อีกทั้งยังสามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้มากกว่า 100 ตัน ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของรถบรรทุก ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนดให้รถบรรทุกสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ไม่เกิน 50.5 ตัน

จ่ายส่วยสูงสุดคันละ 2 แสน

ปัจจุบันมีรถบรรทุกที่จ่ายค่าสติกเกอร์ประมาณ 150,000-200,000 บาทต่อคัน จากจำนวนรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,500,000 คัน ซึ่งในจำนวนที่จ่ายสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุกเฉลี่ยต่อเดือนมีมูลค่าหลายพันล้านบาท

จากปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกิน ส่งผลให้โครงข่ายถนนและสะพานที่มีอายุการใช้งาน 20 ปี ชำรุดจนเกิดความเสียหายก่อนถึงอายุการใช้งาน ในกรณีที่มีการบรรทุกน้ำหนักเกินใช้งาน 2-3 ปีพังแล้ว

รวมทั้งเกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศ 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน

กรมทางหลวง พร้อมตรวจสอบ

นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรณีที่มีกระแสสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุกเกี่ยวกับการกระทำผิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดบนโครงข่ายถนนทางหลวงนั้น ปัจจุบันมีโครงข่ายทางหลวงที่รับผิดชอบระยะทาง 50,000 กว่ากิโลเมตร (กม.) ที่ผ่านมา ทล. ให้ความสำคัญในการดำเนินการตรวจสอบเข้มงวดเรื่องบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายอย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้ ทล. มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักบนทางหลวงจำนวน 97 แห่ง ด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) และด่านตรวจสอบส่วนกลาง 12 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางหลวงทั่วประเทศจะดำเนินการตรวจสอบเส้นทางที่มีรถบรรทุกวิ่งจำนวนหนาแน่นหรือเส้นทางที่มีประชาชนแจ้งเบาะแสให้ตรวจสอบรถบรรทุกจะมีการบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด

ทั้งนี้หากพบว่ากระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกริบรถบรรทุกที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้น

สั่งทุกด่านคุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

นายจิระพงศ์ กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 66 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 – ปัจจุบัน พบว่า มีรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนด จำนวน 2,400 คัน ทั้งนี้ในเดือน พ.ค.66 พบว่า มีรถบรรทุกที่ติดสติกเกอร์พระอาทิตย์สีฟ้า 3 คัน

ขณะที่ในปีงบประมาณ 65 พบว่า มีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 3,488 คัน จากปัญหาการบรรทุกน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ถนนพังเร็วกว่าที่อายุการใช้งาน ทำให้ ทล. ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุงถนนประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันทล. มีแผนจะดำเนินการก่อสร้างด่านชั่งน้ำหนักบนโครงข่ายทางหลวงให้มีคลอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางที่มีรถบรรทุกจำนวนมาก และก่อสร้างจุดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area) เพื่อให้คนขับรถบรรทุกเข้าใช้บริการผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการขับรถในระยะทางที่ไกล เพิ่มความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และป้องกันการเสื่อมสภาพของพื้นผิวถนนในระยะยาว

ส่วนมาตรการป้องกันส่วยรถบรรทุกที่มาจากการกระทำผิดด้วยการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ขณะนี้สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ (สคน.) สั่งการให้ด่านชั่งน้ำหนักทุกด่านเข้มงวดกวดขันรถบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนดมากกว่าจากที่เคยทำ โดยไม่เน้นเป็นรถบรรทุกที่มีสติกเกอร์หรือไม่มีสติ๊กเกอร์ เพื่อป้องกันการกระทำผิด ในอนาคต

ชำแหละ วงจรอุบาทว์ “ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก” เซ่นเจ้าหน้าที่รัฐ

เอกชนยื่นหลักฐานส่วนรถบรรทุก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จะเข้าไปยื่นหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับปัญหาส่วยรถบรรทุกและการคอรัปชัน ต่อพรรคก้าวไกล ให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เก็บไว้เป็นข้อมูลและดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการเข้าพบกับพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ได้มีการหารือแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาส่วยรถบรรทุก หากมีการนัดหมายหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะมีผู้แทนจากสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ และผู้แทนจากพรรคก้าวไกล ร่วมหารือด้วยทุกครั้ง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาส่วยรถบรรทุกร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

หลังจากนี้ “ก้าวไกล” พรรคการเมืองที่เตรียมขึ้นแท่นจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 เตรียมรับศึกหนักทลายส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุกให้ได้ หากปล่อยไว้จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนไม่สามารถยุติปัญหาคอรัปชันของภาครัฐในอนาคตได้