เปิดโผ “ภาคเกษตร-อุตฯ-บริการ”กลุ่มไหนแบกอ่วมสุด ค่าแรง 450

01 มิ.ย. 2566 | 01:00 น.

ชำแหละขึ้นค่าแรง 450 บาท ภาคผลิต-บริการใครกระทบหนัก นักวิชาการชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 4,000 ล้าน แนะปรับค่าแรง 3 ระดับ ตามประสิทธิภาพแรงงาน จี้รัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันส่งออก ปล่อยกู้ดอกเบี้ยพิเศษช่วยผู้ประกอบการไปต่อ เอกชนห่วงกระทบทรานส์ฟอร์มประเทศ

นโยบายขึ้นค่าแรงหรือค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 450 บาทต่อวันของพรรคก้าวไกลแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตามที่ได้หาเสียงไว้ กำลังสร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพราะหากปรับขึ้นแบบกระชากแรงหรือก้าวกระโดด  (ปรับขึ้นจากอัตราเดิม 328-354 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 27-37%)โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่มากพอ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สายป่านไม่ยาวที่มีอยู่จำนวนมากอาจอยู่ไม่ได้

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลหากมีการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการที่มีสัดส่วนค่าจ้างขั้นตํ่าในแต่ละกิจกรรมการผลิตที่จ่ายในรูปค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิตโดยรวมเป็นอย่างมาก รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

  • ภาคผลิต-อุตฯ-บริการ ใครอ่วมบ้าง

โดยในภาคเกษตรกรที่จะส่งผลกระทบเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ยางพารา ที่มีสัดส่วนค่าจ้างขั้นตํ่าต่อต้นทุนการผลิตสูงถึง 54.8% รองลงมาได้แก่ อ้อย (51.6%), มะพร้าว (44.9%), ข้าวโพด (37.0%), มันสำปะหลัง (34.8%) อื่นๆ เช่น ผัก ข้าว ผลไม้ ปาล์ม ประมง ปศุสัตว์ ที่มีสัดส่วนต้นทุนค่าจ้างขั้นตํ่าต่อต้นทุนรวม 15-33% ขณะที่ในภาคเกษตรกรรมโดยรวมมีสัดส่วนค่าจ้างขั้นตํ่าต่อต้นทุนเฉลี่ยถึง 29.9%

ภาคอุตสาหกรรม ในสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ มีสัดส่วนค่าจ้างขั้นตํ่าต่อต้นทุนการผลิตรวมสูงสุดที่ 16.0% รองลงมาได้แก่ การผลิตเครื่องหนังและรองเท้า (12.7%), การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต (11.9%), เคมีภัณฑ์ (11.6%), สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย (11.6%) อื่น ๆ เช่น การผลิตซีเมนต์, กระดาษและสิ่งพิมพ์,ผลิตภัณฑ์พลาสติก, เหล็ก, อาหารและเครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์ยาง,รถยนต์ และจักรยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีต้นทุนค่าจ้างขั้นตํ่าต่อต้นทุนรวม 5-11% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมมีสัดส่วนค่าจ้างขั้นขั้นตํ่าต่อต้นทุนเฉลี่ย 7.4%

ในภาคบริการอีกภาคส่วนที่ใช้แรงงานมาก มีสัดส่วนค่าจ้างขั้นตํ่าต่อต้นทุนการผลิตโดยรวมเฉลี่ย 27.8% โดยที่คาดจะกระทบมากหากมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาทเรียงจากมากไปหาน้อยตามจำนวนแรงงาน ได้แก่ การก่อสร้าง(สัดส่วนต้นทุน 8.8%), ค้าส่งค้าปลีก (37.1%), ภัตตาคารโรงแรม (12.8%), ขนส่ง (16.7%), สถาบันการเงินและประกันภัย (37.6%) อื่นๆ เช่น บริการด้านอสังหาริมทรัพย์, บริการทางด้านธุรกิจ, วิทยุ โทรทัศน์, บริการบันเทิงและบริการสันทนาการ มีต้นทุนค่าจ้างขั้นตํ่าต่อต้นทุนรวม 12-25% ขณะที่ภาคบริการโดยรวมมีสัดส่วนค่าจ้างขั้นขั้นตํ่าต่อต้นทุนรวมเฉลี่ยสูงถึง 27.8%

เปิดโผ “ภาคเกษตร-อุตฯ-บริการ”กลุ่มไหนแบกอ่วมสุด ค่าแรง 450

“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า ยังจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า เพราะค่าจ้างเป็นหนึ่งในโครงสร้างต้นทุนการผลิต ทั้งนี้พบว่า หากค่าจ้างเพิ่มขึ้น 1 บาทจะทำให้เงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น 0.000952% หมายความว่าหากค่าจ้างขั้นตํ่าเพิ่มขึ้นจาก 354 บาทต่อวัน เป็น 450 บาทวัน จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.1%”

  • แนะปรับค่าแรง 3 ระดับ

รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า ขอเสนอแนะให้แบ่งการปรับค่าจ้างตามประสิทธิภาพแรงงาน (ประสิทธิภาพสูงจ่ายสูง ประสิทธิตํ่าจ่ายตํ่า) เป็น 3 ระดับ คือ 450 บาทต่อวันในภาคบริการ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) บันเทิง ก่อสร้าง การเงิน เป็นต้น, 425 บาทต่อวันในภาคอุตสาหกรรม และ 400 บาทต่อวันในภาคเกษตรกรรม

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการขึ้นค่าจ้าง ทั้งนี้จากการประเมินเม็ดเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4,000 ล้านบาท (เพิ่มจาก 354 เป็น 450 บาท/วัน) สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 0.1% ไม่พอที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ดังนั้นต้องกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพื่อให้สินค้า SME ขายได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตต่างๆ และกระตุ้นการส่งออกเพื่อให้ธุรกิจมีรายได้เพิ่ม

ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลเสนอลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% เหลือ 10% จะทำให้รายได้หายไป 3 แสนล้านบาท จำเป็นต้องเก็บภาษีส่วนอื่นเข้ามาทดแทน เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ต่าง ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันธนาคารรัฐต้องมีช่องทางพิเศษในการกู้ยืมเงิน และอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ SME

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

  • ห่วงกระทบทรานส์ฟอร์มประเทศ

 ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างควรใช้ตามกลไกเดิมคือไตรภาคี และหากปรับขึ้นก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้อยู่รอด ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.รวมกว่า 1.5 หมื่นบริษัท มากกว่าครึ่งหนึ่งยังเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น และสัดส่วนกว่า 80% เป็นผู้ประกอบการเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน (ทรานส์ฟอร์ม) สู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่มีมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจสูง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ดังนั้นนโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาทต้องมีการทบทวนให้เหมาะสม

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

  • กกร.จ่อถกขึ้นค่าแรง

 ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ยังต้องจับตาว่าที่สุดแล้ว ค่าจ้างขั้นตํ่าจะปรับขึ้นอย่างไร รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพื่อลดผลกระทบอย่างไร อย่างไรก็ดีเพื่อลดผลกระทบจากค่าจ้างขั้นตํ่าที่ปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงเอสเอ็มอีที่มีความสามารถและกำลังเงินได้ทยอยนำเครื่องจักรอัตโนมัติ มาใช้ทดแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น ในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงนี้คาดจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะมีการหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ในต้นเดือนมิถุนายนนี้

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3892 วันที่ 1 – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566