ปิดดีลยูนิไทย “กทท.” ซุ่มเปิดประมูล “อู่ต่อเรือแหลมฉบัง” 312 ไร่

24 พ.ค. 2566 | 05:57 น.

“กทท.” เปิดทางยูนิไทยเช่าพื้นที่ 3 ปี แลกจ่ายค่าเสียโอกาส 150 ล้านบาท ปมผิดสัญญาสร้างอู่ต่อเรือ เล็งชงบอร์ดไฟเขียวเคาะผลศึกษาสร้างอู่ต่อเรือแหลมฉบัง 312 ไร่ เตรียมดึงเอกชนร่วมประมูล PPP หลังบิ๊กเอกชน-ทุนจีน รุมจีบ

ที่ผ่านมากลายเป็นข้อพิพาทระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบจ.ยูนิไทยชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง ที่ผิดสัญญาเช่าโครงการอู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากตามสัญญาเอกชนกลับไม่ดำเนินการสร้างอู่ต่อเรือ (อู่แห้ง) แต่ปัจจุบันกลับดำเนินกิจการในการใช้อู่ต่อเรือ (อู่ลอย) แทน โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ผ่านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) เพราะเป็นการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้กทท.ฟ้องร้องต่อศาล ทำให้รัฐเสียเปรียบ 

รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง จำกัด (UNITHAI) หมดสัญญาเช่าพื้นที่ดำเนินการโครงการอู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบังระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 นั้น ปัจจุบันได้ดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษารูปแบบความเหมาะสมฝั่งพื้นที่อู่ต่อเรือยูนิไทยในโครงการฯ โดยพื้นที่จะมีขนาดเล็กลง เนื่องจากในอนาคตจะมีการเพิ่มพื้นที่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ออกสู่ทะเล ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.พิจารณาเห็นชอบก่อนที่จะมีการแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากนั้นจะดำเนินการเข้าสู่กระบวนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ต่อไป 
 

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาโครงการอู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง พื้นที่ 312 ไร่ จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เบื้องต้นภาครัฐได้มอบหมายให้กทท.ศึกษาและกำกับความเป็นไปได้ของโครงการฯที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มเติม ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลโครงการฯได้ภายในปลายปี 2567-ต้นปี 2568 

“เรามองว่าโครงการอู่เรือฯไม่ได้สร้างรายได้ให้กับท่าเรือแหลมฉบังมากนัก แต่ยังเป็นธุรกิจที่ควรจะมี ปัจจุบันพบว่ามีเอกชนสนใจประมูลโครงการฯนี้ค่อนข้างมาก เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group),บริษัท เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จำกัด,กลุ่มทุนจีน ฯลฯ ที่ผ่านมากลุ่มทุนจีนมีความสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจตั้งโรงงานผลิตรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่โครงการฯ โดยใช้พื้นที่ดังกล่าวนำเข้าขนส่งสินค้าประเภทสินแร่ ซึ่งมีเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ต้องดำเนินการควบคู่ด้วย” 
 

ส่วนการเปิดให้บริการโครงการฯนั้น กทท.ยังไม่ได้ประเมินในเรื่องนี้ เนื่องจากโครงการฯยังติดปัญหาในคดีที่บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง จำกัด (UNITHAI) ผิดสัญญาในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันกทท.เปิดโอกาสให้กับเอกชนเช่าพื้นที่ในโครงการฯต่อ เป็นระยะเวลา 3 ปี (ปี 2565-2567) ในระหว่างที่กทท.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาโครงการฯ โดยเอกชนยอมชำระค่าเช่าประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี เพื่อดำเนินธุรกิจต่อ ทำให้กทท.ยังมีรายได้จากค่าเช่าจากเอกชน

หากผลการศึกษาได้ข้อสรุปแล้ว และมีการเปิดประมูลครั้งใหม่ จะทำให้บจ.ยูนิไทยชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง ต้องออกจากพื้นที่ดังกล่าวทันที ยกเว้นบจ.ยูนิไทยชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง เป็นคู่สัญญาหรือพาร์ทเนอร์ร่วมกับเอกชนผู้รับสัมปทานรายใหม่ถึงจะดำเนินการต่อไปได้ 

“สาเหตุที่กทท.ให้บจ.ยูนิไทยชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง เช่าพื้นที่ต่อนั้น ถือเป็นการเก็บค่าเสียประโยชน์จากการใช้พื้นที่ เพราะเอกชนไม่ยอมออกจากพื้นที่ ที่ผ่านมามีการเจรจาระหว่างกันเพื่อแลกกับการฟ้องร้องในศาล ซึ่งใช้ระยะเวลาราว 10 ปี โดยเอกชนเจรจาว่าจะยอมชำระค่าเช่าในเรทที่กทท.กำหนดใหม่ ทำให้การฟ้องร้องที่ผ่านมาจะยุติทันที เมื่อเริ่มเปิดประมูลใหม่และมีการเจรจาค่าเสียโอกาสเสร็จสิ้น โดยที่กทท.มีรายได้เพียงพอและไม่ทำให้ภาครัฐเสียรายได้หรือเสียประโยชน์” 

ปิดดีลยูนิไทย “กทท.” ซุ่มเปิดประมูล “อู่ต่อเรือแหลมฉบัง” 312 ไร่

รายงานข่าวจากกทท.กล่าวต่อว่า กรณีที่บจ.ยูนิไทยชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง ยังมีคดีที่ผิดสัญญากับกทท.มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลโครงการอู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบังครั้งใหม่หรือไม่นั้น มองว่า การประมูลโครงการฯนี้มีกิจกรรมหลายรูปแบบ คาดว่าผู้เข้าร่วมประมูลสามารถเข้ารร่วม Joint Venture ได้ ซึ่งบจ.ยูนิไทยชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลได้ตามปกติ 

อย่างไรก็ตามการคาดรายได้โครงการเรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งจะต้องดูว่ากทท.จะมีรายได้ให้กับภาครัฐเท่าไร โดยผลการศึกษาจะเป็นตัวชี้วัดธุรกิจประเภทดังกล่าวว่าราคากลางจากการประมูลโครงการฯควรอยู่ที่เท่าไร รวมทั้งเป็นตัวชี้วัดค่าเช่าและค่าธรรมเนียมต่างๆด้วย