สศช. แจ้ง ครม. ต้องรักษาบรรยากาศการเมืองในประเทศ จนสิ้นปี 2566

16 พ.ค. 2566 | 09:01 น.

ครม. รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 สศช. แนะการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ขอให้ความสำคัญกับการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจ และการเมืองภายในประเทศในช่วงหลังการเลือกตั้ง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เสนอ 

โดยเฉพาะในประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2566 สศช. ได้มีข้อเสนอถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 หนึ่งในนั้นคือการขอให้ความสำคัญกับการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศในช่วงหลังการเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2566 โดยระบุว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากนี้คือ การรักษาบรรยากาศทางการเมืองหลังเลือกตั้งให้เกิดความสงบเรียบร้อย เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเกิดความราบรื่น เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

ส่วนการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งพิจารณาฐานะการเงินการคลังของประเทศให้รอบคอบ โดยที่ไม่ทำนโยบายอะไรที่ส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณ

ทั้งนี้ เลขาฯ สศช. ยอมรับว่า ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเจอวิกฤตโควิดมา 2 ปี ช่วงนั้นเราใช้มาตรการทางการเงินการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตและทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ แต่ ณ ตอนนี้เราผ่านวิกฤตมาแล้วนโยบายทางการเงินการคลังช่วงถัดไปต้องกลับเข้ามาสู่ปกติ ถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะต่างประเทศจะเข้ามาประเมินเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไปด้วย 

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

สำหรับข้อเสนอถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 นั้น สศช. ระบุว่า การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า เช่น การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีและการสร้างตลาดใหม่ 

รวมทั้งติดตามและเฝ้าระวังและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก

ขณะเดียวกันยังต้องส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 - 2565 เกิดการลงทุนจริง การส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

 

ข้อเสนอถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566

 

รวมทั้งการสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาและสร้างความพร้อมต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ การพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร จะให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก 2566/2567 ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะเดียวกันที่ประชุมครม. ยังรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัว 2.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 - 3.7%

 

ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 และ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566