สศช. ตีกันรัฐบาลใหม่ อย่าทำวินัยการเงินการคลังประเทศพัง-ต่างชาติหนี

15 พ.ค. 2566 | 07:39 น.

เลขาฯ สศช. ตีกันรัฐบาลใหม่ เข้ามาบริหารประเทศ ต้องรอบคอบและรักษาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ รับที่ผ่านมาไทยผ่านวิกฤตมาแล้ว หวั่นกระทบความเชื่อมั่นต่างชาติหนี แนะรักษาบรรยากาศการเมืองให้เรียบร้อย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งพิจารณาฐานะการเงินการคลังของประเทศให้รอบคอบ โดยที่ไม่ทำนโยบายอะไรที่ส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณ

“ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเจอวิกฤตโควิดมา 2 ปี ช่วงนั้นเราใช้มาตรการทางการเงินการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตและทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ แต่ ณ ตอนนี้เราผ่านวิกฤตมาแล้วนโยบายทางการเงินการคลังช่วงถัดไปต้องกลับเข้ามาสู่ปกติ ถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะต่างประเทศจะเข้ามาประเมินเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไปด้วย” 

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าว

 

รักษาบรรยากาศทางการเมืองหลังเลือกตั้ง

นายดนุชา กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากนี้คือ การรักษาบรรยากาศทางการเมืองหลังเลือกตั้งให้เกิดความสงบเรียบร้อย เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเกิดความราบรื่น เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ 

สวัสดิการถ้วนหน้าทำได้แค่บางเรื่อง

ส่วนนโยบายของรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิการประชาชนนั้น เห็นว่า การจัดทำนโยบายสวัสดิการแบบถ้วนหน้าสามารถทำได้เพียงบางเรื่องเท่านั้น เช่น เรื่องการศึกษา และสาธารณสุข ส่วนการจะทำสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับทุกคน ต้องดูให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลว่าคนหนึ่งคนควรได้รับอะไรที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะมีความเหมาะสมมากกว่า

“หากประเทศไทยทำสวัสดิการพวกนี้ต้องชัดเจนกลุ่มไหนยังไง ถ้าต้องการแบบต่างประเทศ ก็ต้องยอมรับว่าทุกคนต้องจ่ายภาษีไม่อย่างนั้น จะไม่มีรายได้เพียงพอมาทำนโยบาย และต้องบอกตามตรงทุกพรรคพูดเรื่องรายจ่ายไม่มีพูดเรื่องรายได้ ว่าจะเอามายังไง”

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าว

 

ลดงบไม่ใช่หารายได้-เก็บภาษีคนรวยไม่ง่าย

ส่วนแนวทางการปรับลดงบประมาณเพื่อมาใช้ในการทำนโยบายของพรรคการเมืองนั้น ต้องยอมรับว่า วิธีการทำแบบนี้ ไม่ใช่การหารายได้ แต่เป็นแค่การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณ เพราะการหารายได้ต้องมาจากการปรับโครงสร้างภาษี รวมถึงการเก็บภาษีใหม่ ๆ 

ขณะเดียวกันการระบุถึงการเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้สูงนั้น เชื่อว่า จะทำขาเดียวคงไม่ได้ เพราะคนที่มีรายได้สูงยังมีช่องทางการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ อีกหลายช่องทาง และหากจะเก็บภาษีจากคนรายได้สูงจริง โดยไปปรับลดการลดหย่อนให้น้อยลง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการดึงคนไทยส่วนใหญ่ให้เข้าสู่ระบบภาษี เพื่อให้ได้รับสวัสดิการดี ๆ เหมือนกับในต่างประเทศได้

นโยบายเพิ่มต้นทุนเอกชนหวั่นต่างชาติชิ่งหนี

ส่วนบางนโยบายหาเสียงที่เป็นนโยบายเพิ่มต้นทุนให้กับภาคเอกชน เช่น การขั้นค่าแรงขั้นต่ำ นั้น นายดนุชา ระบุว่า คงต้องไปพิจารณาให้รอบคอบ เพราะบางนโยบายได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและผู้ประกอบการค่อนข้างมาก เพราะถ้าทำไปแล้วนอกจากส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจ อาจมีความเสียงต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อาจจะปรับทิศไปจากประเทศไทยก็ได้

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าว

 

แนะแนวทางบริหารเศรษฐกิจมหภาค

เลขาฯ สศช. ยังระบุถึงแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลใหม่ด้วยว่า การทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างต่อเนื่องต้องรักษาบรรยากาศทางการเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อย ควบคู่กับการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วงไตรมาสสุดท้าย ปี 2566 วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่าต้องตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้ภายในเดือนกันยายน 2567 เพื่อให้ครม.อนุมัติงบก้อนนี้ลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจปลายปี 2566 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2567

ขณะเดียวกันในการจัดทำงบประมาณ ปี 2567 เบื้องต้นจะช้าออกไปจากเดือนตุลาคม 2566 แน่นอน แต่อาจไม่เกินช่วงไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องดูอีกครั้งว่าจะมีการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณอย่างไร เช่น การปรับเล็ก คือปรับแค่รายละเอียดภายใต้กรอบวงเงินเดิม หรือปรับใหญ่ ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณามากเพราะต้องดูทั้งประมาณการรายได้ รายจ่าย และการเติบโตเศรษฐกิจในช่วงถัดไปด้วย แต่คงไม่หนีไปจากที่ทำไว้เดิมมากนัก

นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ยังต้องเร่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เรื่องการดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ เพราะปัจจุบันมีนักลงทุนกำลังรอความชัดเจนของรัฐบาล และถ้ามีความชัดเจนเร็วมากแค่ไหนก็เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน และเป็นประโยชน์ต่อโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศด้วย