การบินไทย ขายเกลี้ยง โบอิ้ง 747 - 400 ปิดตำนานฝูงบิน

28 เม.ย. 2567 | 03:09 น.

การบินไทย ทยอยขายเครื่องบินโบอิ้ง 747 - 400 จำนวน 18 ลำ จนครบแล้ว ส่งมอบลำสุดท้าย ปทุมาวดี ปิดตำนาน Queen of the Skies Farewell

การบริหารฝูงบินเป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบไปด้วยมาตรการในการหารายได้และลดค่าใช้จ่าย เช่น การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Flight Business) และ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Flight Business) และการลดค่าใช้จ่าย

โดยมีโครงการที่ริเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การปรับลดขนาดองค์กร ลดขนาดฝูงบินและปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการในการใช้เครื่องบิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โบอิ้ง 747 - 400

ซึ่งเครื่องบินรุ่น B747-400 ลำสุดท้ายของฝูงบินโบอิ้ง 747 - 400 ได้ถูกส่งมอบให้กับ ให้กับบริษัท อาร์พีเอส ซิสเต็ม จำกัด เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 นับเป็นการปิดตำนาน B747- 400 “Queen of the Skies” โดยอากาศยานรุ่น B747-400 ลำสุดท้ายนี้มีชื่อว่า ปทุมาวดี หมายเลขทะเบียน HS-TGG เป็น 1ใน18 ลำของฝูงบิน ซึ่งโบอิ้ง 747 - 400 ได้ให้บริการในเส้นทางพิสัยไกลมายาวนาน  ประกอบกับการปรับกลยุทธ์เส้นทางบินของบริษัทฯ จึงได้ทยอยจำหน่ายอากาศยานรุ่นนี้จนครบทุกลำ

ปิดตำนานฝูงบิน โบอิ้ง 747 - 400 การบินไทย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินที่ปลดระวางและอยู่ระหว่างเจรจาขายจำนวน 18 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นแอร์บัส 380 จำนวน 6 ลำ และตระกูลโบอิ้ง 777 จำนวน 12 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง สามารถทำการบินในพิสัยไกล คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ และจะส่งผลให้แผนการขายสินทรัพย์ประเภทอากาศยานของการบินไทยแล้วเสร็จ 

การบินไทยมีแผนบริหารฝูงบินภายหลังเข้าฟื้นฟูกิจการ โดยก่อนปี 2556 มีเครื่องบินรวมทั้งสิ้นจำนวน 100 ลำ ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ได้ปลดระวางเครื่องบินจำนวนหนึ่งที่มีอายุการใช้งานยาวนาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารเสื่อมสภาพ มีค่าซ่อมบำรุงที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี

มีมูลค่าการลงทุนสูงและไม่คุ้มค่าที่จะปรับปรุงเพื่อคืนสภาพให้สามารถกลับมาปฏิบัติการบิน ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการบินเหลือเพียงจำนวน 64 ลำ หรือมีขนาดฝูงบินรวมลดลงร้อยละ 36 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556

การบินไทย ขายเกลี้ยง โบอิ้ง 747 - 400 ปิดตำนานฝูงบิน

ช่วงปี 2565 – 2566 บริษัทฯ ได้แก้ไขข้อจำกัดด้านฝูงบินโดยการจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติการบินรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินแบบ Airbus 350 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ Rolls-Royce แบบ Trent XWB และจะเริ่มทยอยรับเครื่องบินลำตัวแคบแบบแอร์บัส 321neo ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2568 เป็นต้นไป ทำให้จำนวนเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 70 ลำในปี 2566 ที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 79 ลำในปี 2567 และ 90 ลำในปี 2568 ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยบริษัท โบอิ้ง และบริษัท จีอี แอโรสเปซ แถลงร่วมกันเรื่องการจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner ลำใหม่ จำนวน 45 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ GEnx รวมทั้งสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมสูงสุดรวมเป็น 80 ลำ ในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ 2024 สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner จะเข้าประจำการในฝูงบินภายใต้กรอบระยะเวลา 10 ปี โดยจะเริ่มทยอยส่งมอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป