ย้อนประวัติ "iTV" ไอทีวี หลัง พิธา ถูกร้อง ขาดคุณสมบัติ ปมถือหุ้นสื่อ

11 พ.ค. 2566 | 10:50 น.

ย้อนประวัติ "iTV" หลัง พิธา ถูกร้อง ปมถือหุ้นสื่อ สถานีโทรทัศน์ ไอทีวี ตั้งแต่วันก่อตั้งด้วยเจตนารมณ์ข้อมูลถูกต้อง ตามจริง สู่"กบฏไอทีวี" ค้านชินคอร์ป แซกแแทรก จนถึงวันอวสานสถานีโทรทัศน์

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 2566 ได้เกิดประเด็นให้ได้ติดตามกันต่อ ทั้งในมิติการเมือง และมิติการบวนการยุติธรรม เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น

ความคิดเห็นถูกแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ในขณะที่ชื่อของสถานีโทรทัศน์ iTV หรือ ไอทีวี ทีวีเสรี ได้เลือนลางไปจากความทรงจำของผู้คนจำนวนมาก และแน่นอนว่าคน Gen Z เกิดไม่ทัน ไม่เคยได้เห็นการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ iTV ฐานเศรษฐกิจ จึงเปิดประวัติ ที่มา ที่ไป ของสถานีโทรทัศน์ iTV

รู้จัก สถานีโทรทัศน์ iTV

สถานีโทรทัศน์ iTV ดำเนินกิจการโดย บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยได้รับอนุมัติให้ดำเนินการสัมปทานสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF จาก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) จำนวน 1 ช่องสถานี ส่งโทรทัศน์สีในระบบยูเอชเอฟ  และได้ถูก สปน. ยกเลิกสัมปทานในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 สาเหตุจาก ไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่าย คิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ภายในวันที่ 7 มีนาคม

iTV หลังจากการจากนั้น สถานีโทรทัศน์ iTV ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ก่อนจะใช้ชื่อ "สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส" ในปัจจุบัน โดยโอนกิจการย้ายไปสังกัดที่กรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 ตามลำดับ

แนวคิดการก่อตั้ง สถานีโทรทัศน์ iTV

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) โดย นายมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการเปิดสัมปทานสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ กำหนดเงื่อนไขของสัมปทานไว้ว่า ผู้รับสัมปทานจะต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย แต่ละรายต้องมีสัดส่วนหุ้นที่เท่ากัน พร้อมกับแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อป้องกันการผูกขาด และมีสัดส่วนเนื้อหารายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และรายการบันเทิงไม่เกินร้อยละ 30 เพื่อเปิดดำเนินการสถานีโทรทัศน์เสรี ในระบบยูเอชเอฟ ให้คนไทยมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องเป็นกลางอย่างแท้จริง นอกเหนือจาก สถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่เดิม คือ ช่อง 3 ,ททบ.5 ,ช่อง 7 (BBTV) ,ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และ สทท.

มีบริษัทที่เข้าประมูล 2 กลุ่มคือ กลุ่มสยามทีวี และ กลุ่มผู้ผลิตรายการ ผลการประมูลในปี พ.ศ. 2538  สรุปว่า กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้รับสัมปทานและได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ดำเนินงานบริหารสถานีฯ เป็นเวลา 30 ปี สิ้นสุดวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2569

ขุนพลข่าว ไอทีวี

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2540 บริษัทฯ ขาดทุนอย่างหนัก คณะรัฐมนตรี ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ดึงกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) เข้ามาถือหุ้นไอทีวีด้วยวงเงิน 1,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้แปลงหนี้เป็นทุน มีสัดส่วน 55% โดยมอบสิทธิ์การบริหารให้กับชินคอร์ป

ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของ พรรคไทยรักไทย ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค จนทำให้เกิดการต่อต้าน จากพนักงานฝ่ายข่าวของไอทีวี เรียกว่า "กบฏไอทีวี" ประกอบด้วยนักข่าวจำนวน 21 คน ซึ่งได้ถูกเลิกจ้าง จนมีการฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ชั้นฎีกาพิพากษาให้กลุ่มลูกจ้างชนะคดี บริษัทต้องรับพนักงานกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างชดเชย

กบฏไอทีวี

เมื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่มีเงินจ่ายค่า สัมปทาน

ชินคอร์ป ได้ยื่นเรื่องต่อ อนุญาโตตุลาการ ในปี พ.ศ. 2547 เพื่อขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน และขอลดค่าสัมปทาน ที่ต้องจ่ายให้รัฐ ปีละ 1,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า เอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า คณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 30 มกราคม 2547 ลดค่าสัมปทานให้สถานีฯ ลง เป็นปีละ 230 ล้านบาท พร้อมทั้ง อนุญาตให้สถานีฯ แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ รายการสาระ ต่อรายการบันเทิง เป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 และให้รัฐ จ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทฯ เป็นเงิน 20 ล้านบาท เนื่องจาก สปน. ทำผิดสัญญา มิได้ให้ความคุ้มครองแก่บริษัทฯ และสถานีฯ ตามที่ได้ทำสัญญาสัมปทานไว้ 

ต่อมา ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ส่งผลให้ สถานีฯ ต้องจ่ายค่าสัมปทาน ปีละ 1,000 ล้านบาท เช่นเดิม และ ต้องปรับสัดส่วน รายการข่าวและสาระ ต่อรายการบันเทิง กลับไปเป็น ร้อยละ 70 ต่อ 30 นอกจากนี้ บริษัทฯ ต้องเสียค่าปรับ จากการผิดสัญญาสัมปทาน

ท้ายที่สุด ถูกยกเลิกสัมปทานในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 สาเหตุจาก ไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่าย คิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ภายในวันที่ 7 มีนาคม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูกโอนย้ายไปอยู่ภายใต้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

สถานะ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 

จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ทุนจดทะเบียน 7,800 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจประเภทการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์ ข้อมูลการส่งงบการเงินล่าสุด ปี 2564 จากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มีรายได้รวม 22,993,678 บาท รายจ่ายรวม 10,248,139 บาท มีกำไรสุทธิ 10,177,063 บาท

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทฯที่เคยทำการซื้อขาย ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557