“เวอร์จิน” ยื่นฟ้องล้มละลาย หลังภารกิจปล่อยดาวเทียมล้มเหลว

05 เม.ย. 2566 | 04:52 น.

"เวอร์จิน ออร์บิท" ใต้ปีกบริหารของ "ริชาร์ด แบรนสัน" ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายแล้ว หลังระดมทุนก้อนใหม่ไม่สำเร็จ และสูญเงินมหาศาลจากความล้มเหลวภารกิจปล่อยดาวเทียมล่าสุด แถมต้องปลดพนักงาน 85% เพื่อประหยัดรายจ่าย

วานนี้ (4 เม.ย.66) บริษัท เวอร์จิน ออร์บิท โฮลดิ้งส์  (Virgin Orbit Holdings : VORB.O) ของ “ริชาร์ด แบรนสัน” ได้เข้ายื่นฟ้องล้มละลาย ตาม Chapter 11 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐ หลังบริษัทล้มเหลวในการจัดหาเงินทุนระยะยาว เพื่อต่อลมหายใจให้บริษัท จากสูญเงินมหาศาลไปกับภารกิจปล่อยจรวดล่าสุด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และประสบความล้มเหลว

เวอร์จิน ออร์บิท ซึ่งมีที่ตั้งในรัฐแคลิฟอเนีย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายสหรัฐประจำเขตเดลาแวร์ เพื่อขอให้ขายทรัพย์สินของบริษัท หลังประกาศปลดพนักงาน 85% จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 750 คนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“ในขั้นตอนนี้ เราเชื่อว่าการปฏิบัติตาม Chapter 11 เป็นหนทางที่ดีที่สุด ในการระบุและสรุปการขายสินทรัพย์ที่ให้เกิดประสิทธิภาพและได้มูลค่าสูงสุด” แดน ฮาร์ท ซีอีโอเวอร์จิน ออร์บิท กล่าวในแถลงการณ์

"Chapter11" นั้น เป็นกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา (Bankruptcy Code) สําหรับองค์กรธุรกิจซึ่งประสงค์จะดําเนินธุรกิจต่อและจะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเริ่มต้นใหมโดยไม่ต้องแบกภาระหนี้เดิม ด้วยการปลดภาระบางประเภทของลูกหนี้

มีข้อมูลว่า บริษัทรายงานสินทรัพย์ประมาณ 243 ล้านดอลลาร์ และหนี้สินรวม 153.5 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 30 กันยายนในการยื่นฟ้อง

เวอร์จิน ออร์บิท เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะเมื่อปี 2564 ว่า มีการระดมทุนเงินมาได้ 255 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าที่คาด กระทั่งเดือนมกราคมที่ผ่านมาภารกิจปล่อยจรวดครั้งที่ 6 ของในสหราชอาณาจักร ล้มเหลว ไม่สามารถเข้าถึงวงโคจรได้ ทำให้ดาวเทียมข่าวกรองของสหรัฐและอังกฤษลำนี้ พุ่งลงสู่มหาสมุทร

บริษัทพยายามหาแหล่งเงินทุนใหม่ หลังสูญเสียงบประมาณไปกับภารกิจดังกล่าว จนกระทั่งต้องหยุดการดำเนินงาน และเลิกจ้างพนักงานเกือบทั้งหมด เมื่อวันที่ 15 มีนาคมเพื่อลดรายจ่าย

เครื่องบินโบอิ้ง 747 ที่ได้รับการดัดแปลง เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร

เวอร์จิน ล้มเหลวในการระดมทุนรอบใหม่ 

“เวอร์จิน อินเวสเมนท์” ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของเวอร์จิน กรุ๊ป ตกลงว่าจะมอบเงินก้อนใหม่จำนวน 31.6 ล้านดอลลาร์ให้กับเวอร์จิน ออร์บิท ผ่านการจัดหาเงินทุนจากลูกหนี้ และยังมองหาผู้สนใจซื้อบริษัทหลังยื่นล้มละลาย 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า “แมทธิว บราวน์” ที่เคยเปิดเผยว่า ลงทุนในบริษัทด้านอวกาศมาแล้ว 13 แห่ง ได้ติดต่อเวอร์จิน ออร์บิท เพื่อเจรจาร่วมลงทุน 200 ล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายการเจรจากลับล้มเหลว 

บรรดาเจ้าหนี้เริ่มหนาว หลังเวอร์จินยื่นฟ้องล้มละลาย

“เครือเวอร์จิน กรุ๊ป” ที่ “แบรนสัน” ถือหุ้นประมาณ 75% ได้ลงทุนในส่วนงานนี้ไปแล้วกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ทั้งยังกู้เงินแบบมีหลักประกัน 60 ล้านดอลลาร์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 

เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของบริษัทคือ Arqit Quantum  ซึ่งตั้งอยู่ในลอนดอน ด้วยมูลหนี้เกือบ 10 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2564 Arqit Quantum และเวอร์จิน ออร์บิท ได้ประกาศข้อตกลงสำหรับการปล่อยดาวเทียม 2 ดวงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ประเทศ กลุ่ม "Five Eyes" ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

กระทั่ง Arqit Quantum ประกาศในเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่าจะละทิ้งโครงการพัฒนาดาวเทียมกับเวอร์จิน ออร์บิท  และค้นพบวิธีการเข้ารหัสที่ปลอดภัยผ่าน "โครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดิน" แต่ไม่ระบุรายละเอียดใดๆ

เจ้าหนี้รายใหญ่อันดับสองของ เวอร์จิน ออร์บิท คือ กองทัพสหรัฐ  ด้วยเงินเกือบ 6.8 ล้านดอลลาร์ การยืนฟ้องล้มละลายของบริษัทครั้งนี้ กองทัพสหรัฐฯ ไม่ออกมาเเสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

รู้จัก "เวอร์จิน ออร์บิท" ใต้ปีกเวอร์จิน กรุ๊ป

เวอร์จิน ออร์บิท เป็นบริษัทในเครือเวอร์จิน กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 แยกตัวออกมาจาก “เวอร์จิน กาแล็คติก” บริษัททำทัวร์อวกาศ

เวอร์จิน ออร์บิท ให้บริการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก จากใต้เครื่องบินโบอิ้ง 747 ที่ได้รับการดัดแปลง เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก สามารถบรรทุกน้ำหนักบรรทุกได้ 300 กก. ไปยังวงโคจร ในอดีตเคยเป็นโครงการภายใต้ “Virgin Galactic LauncherOne” เป็นยานปล่อยจรวดสองขั้นที่ยิงทางอากาศ 

เดิมทีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของเวอร์จิน ออร์บิท คือ การปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กจากเครื่องบินโบอิ้ง 747 ซึ่งสามารถปล่อยได้จากทุกที่ แต่ในระยะหลังความต้องการใช้บริการปล่อยดาวเทียมขนาดใหญ่มีมากขึ้น และการประหยัดต้นทุนจากการแชร์พื้นที่การขนส่งเข้าไปในวงโคจร บนจรวด SpaceX's Falcon 9 ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เวอร์จิน ออร์บิทมีคู่เเข่งในตลาดมากขึ้น

มีรายงานว่า วันจันทร์ที่ผ่านมา "มูลค่าบริษัท" หลังปิดตลาดลดเหลือ 65 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์ สะท้อนว่าธุรกิจอากาศยานของเวอร์จิน กำลังเข้าสู่ช่วงถดถอย ท่ามกลางคู่แข่งในตลาดที่มีอยู่จำนวนมาก

ที่มา : reuters