เปิดความจริงรายได้ท่องเที่ยวไทย พบเงินรั่วไหลเกือบ 30%

29 มี.ค. 2566 | 03:51 น.

เปิดความจริงรายได้ท่องเที่ยวไทย อุปสรรคใหญ่ พบเงินรั่วไหลเกือบ 30% เก็บรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แนะหาทางแก้ด่วน

แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (ปี 2566 - 2570) ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเแล้ว หลังเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ตามแผนคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยไว้หลายเรื่อง พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายทั้งจำนวนและรายได้ที่ประเทศไทยจะได้รับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

แต่ภายใต้ข้อมูลสำคัญก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายพบอุปสรรคสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขให้ได้ หลังมีการประเมินส่วนรั่วไหลทางการท่องเที่ยวพบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจำเป็นต้องสูญเสียไปกับการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น เนื้อสัตว์ สุรา เบียร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

รวมถึงค่าธรรมเนียมสถาบันการเงิน เพื่อนำไปประกอบการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น 

เงินรั่วไหลท่องเที่ยวเกือบ 30%

ส่วนรั่วไหลทางการท่องเที่ยว มีข้อมูลสำคัญสรุปได้ โดยงานวิจัย “การประเมินส่วนรั่วไหลทางการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความสมดุลด้านการกระจายรายได้” โดย รศ.ดร.บัณฑิต ชัยวิชญชาติ และคณะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รายงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีส่วนรั่วไหลทางการท่องเที่ยวมากถึง 28.37% นั่นคือเมื่อเกิดรายได้จากการท่องเที่ยว 100 บาท จะสูญเสียรายได้จากการนำเข้าวัตถุดิบต่างประเทศ 28.37 บาท

โดยภาพรวมรายได้ที่รั่วไหลคิดเป็นรายได้รั่วไหลทางการท่องเที่ยวของปี 2559 มากถึง 714,672.2 ล้านบาท โดยมาจากการนำเข้าเนื้อสัตว์ การใช้บริการสถาบันการเงิน การใช้บริการการค้าส่ง การใช้บริการอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนและการใช้บริการการค้าปลีกเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 35.88% คิดเป็นรายได้รั่วไหลประมาณ 184,403.3 ล้านบาท

รองลงมาคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมี 3 ประเภทธุรกิจหลัก ได้แก่ 

1. ธุรกิจที่พัก มีรายได้รั่วไหลประมาณ 134,377.2 ล้านบาท หรือ 20.34% 

2. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีรายได้รั่วไหลประมาณ 184,803.3 ล้านบาท หรือ 35.88%

3. ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและให้บริการ มีรายได้รั่วไหลประมาณ 65,569.4 ล้านบาท หรือ 27.57%

 

รายได้ท่องเที่ยวไทย พบเงินรั่วไหลเกือบ 30%

แนะลดสัดส่วนการนำเข้า

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนปริมาณรายได้รั่วไหลของแต่ละธุรกิจจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ ลักษณะของแหล่งท่องเที่ยว สัดส่วนการนำเข้าผลผลิต โครงสร้างการผลิต และกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก 

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดแนวทางต่าง ๆ เพื่อลดสัดส่วนรั่วไหลทางการท่องเที่ยวให้ลดลง โดยผ่านการจัดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ให้มีกระแสของการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นสำคัญหรือเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น การสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าและบริการในแต่ละแหล่งท่องเที่ยวไทย การสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในประเทศไทย จะส่งผลให้ส่วนรั่วไหลของรายได้ลดลง และยังช่วยให้เกิดการกระจายรายได้มาสู่คนไทยมากยิ่งขึ้น