“ประยุทธ์”ทิ้งทวนประธานบอร์ดบีโอไอ อนุมัติส่งเสริมลงทุนกว่า 5 หมื่นล้าน

20 มี.ค. 2566 | 09:08 น.

บอร์ดบีโอไอเคาะส่งเสริมลงทุนล็อตใหญ่กว่า 5 หมื่นล้าน เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน – ดิจิทัล ของประเทศ ทั้งท่าเทียบเรือขนถ่าย LNG โรงไฟฟ้าร่วมทุนไทย-สิงคโปร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ตั้งคณะทำงานบูรณาการ 4 หน่วยงานอำนวยความสะดวกนักลงทุน ดึงตั้งสำนักงานภูมิภาค

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน (20 มี.ค.2566)ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 56,615 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานในด้านพลังงานของประเทศ เช่น โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มูลค่าเงินลงทุน 32,710 ล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าระบบ Cogeneration ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ มูลค่าเงินลงทุน 5,005 ล้านบาท

นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับบริการด้านการจัดการและจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ขนาดใหญ่ 2 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 10,371 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างอังกฤษและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและจะใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย

ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น โครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการผลิตโลหะทองคำและเงินภายใต้รูปแบบโลหะผสม และโครงการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 8,500 ล้านบาท

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

“จะเห็นได้ว่า โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ เป็นโครงการที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งพลังงาน และดิจิทัล รวมทั้งกิจการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการโยกย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เพื่อให้เป็นฐานธุรกิจหลักในภูมิภาค อีกทั้งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการเป็นดิจิทัลฮับของประเทศไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัท อเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ได้ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในไทยด้วยเงินลงทุนที่สูงถึง 1.9 แสนล้านบาท ในระยะ 15 ปี” นายนฤตม์กล่าว

นอกจากนี้ 4 หน่วยงานของรัฐ ได้จับมือพัฒนากลไกการอำนวยความสะดวก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บีโอไอ ร่วมกับกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เปิดให้บริการระบบ HQ Biz Portal ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค และระบบนัดหมายออนไลน์ รวมทั้งได้จัดตั้งทีมงานร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย

สำหรับสำนักงานภูมิภาค ถือเป็นกิจการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ช่วยสร้างงานที่มีคุณภาพ สร้างโอกาสในการขยายการลงทุนของธุรกิจอื่น ๆ ตามมา และจะเสริมสร้างความโดดเด่นของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาค อีกทั้งช่วงนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่จะเร่งโหมดึงบริษัทชั้นนำให้เข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ บีโอไอได้ส่งเสริมการลงทุนกิจการสำนักงานภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2543 มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมกว่า 500 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 13,000 ล้านบาท โดยบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมสูงสุด ร้อยละ 40 รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และฮ่องกง ตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม 3 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เพื่อให้การดึงดูดผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการรับรองคุณสมบัติมากขึ้น โดยบีโอไอได้เสนอให้เพิ่มเติมและปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรับรองคุณสมบัติแก่ชาวต่างชาติที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในสาขาที่ประเทศยังขาดแคลน (Highly Skilled Professional) รวม 15 สาขา ดังนี้

1) อุตสาหกรรมยานยนต์ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ 4) อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ 6) อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 7) อุตสาหกรรมการบิน อากาศยานและอวกาศ 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 10) อุตสาหกรรมดิจิทัล 11) อุตสาหกรรมการแพทย์

12) อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ 13) อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรง เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 14) ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) 15) อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องทำงานโดยใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น นักวิจัยในสาขาอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีเป้าหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบดิจิทัล การเงิน สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญในโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ รวมทั้งองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ

นายนฤตม์ กล่าวด้วยว่า การเพิ่มและปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายของ LTR Visa ในครั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และทักษะความเชี่ยวชาญในสาขาที่มีความสำคัญและประเทศยังขาดแคลน โดยเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงกลุ่มนี้ สามารถได้รับ LTR Visa เพื่อเข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนของไทยได้ในระยะยาว ปัจจุบันมีชาวต่างชาติมายื่นขอ LTR Visa แล้วกว่า 3,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน จีน และยุโรป