ปั้นคนรุ่นใหม่ดันซอฟต์พาวเวอร์“หัตถกรรมไทย”รับส่งออกโต

17 มี.ค. 2566 | 08:30 น.

 Sacit เดินหน้าแผนงานปี 66 เร่งปั้นคนรุ่นใหม่ ดันซอฟต์ พาวเวอร์ หนุนผลิตภัณฑ์ศิลปหัตกรรมไทยตีตลาดโลกรับตลาดส่งออกโต 3.4 แสนล้าน ดึงคนดังร่วมโปรโมท เผยสหรัฐฯตลาดเบอร์ 1

 “ซอฟต์ พาวเวอร์”เป็นอีกพลังสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย รวมถึงให้กับทุกประเทศในโลก โดยซอฟต์ พาวเวอร์ ไทยมีความโดดเด่นไม่แพ้ใคร ทั้งในเรื่องอาหาร ผลไม้ ดนตรี ภาพยนตร์ มวยไทย วัฒนธรรม ประเพณี เทศกาลต่าง ๆ ฯลฯ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยเป็นอีกซอฟต์ พาวเวอร์ของประเทศ ที่นับวันช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก และมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้นทุกขณะ

 นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย

 นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) (สศท.หรือ sacit) ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ข้อมูลในปี 2565ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยมูลค่ารวม 349,034.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 71,047.61 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 25.56%

 

สำหรับในปี 2566 นี้ sacit มีการหารือผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจดลิขสิทธิ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการขายงานศิลปหัตถกรรมไทยผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการให้ความรู้ใหม่ๆ ด้านการขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

ปั้นคนรุ่นใหม่ดันซอฟต์พาวเวอร์“หัตถกรรมไทย”รับส่งออกโต

 ทั้งนี้เพื่อเร่งขยายกลุ่มผู้ซื้อไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยอาศัยเครื่องมือด้านความบันเทิง สร้างการมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่ พร้อมใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางความคิด (Key Opinion Leader) ที่สามารถเชื่อมต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ ประกอบกับการเน้นสร้างภาพจำของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทันสมัยและสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ นำสู่การบริโภคอย่างต่อเนื่อง

ปั้นคนรุ่นใหม่ดันซอฟต์พาวเวอร์“หัตถกรรมไทย”รับส่งออกโต

 “ล่าสุดเราได้ “บัวขาว บัญชาเมฆ” มาถ่ายทอดพลัง Soft Power ผ่าน กางเกงมวยผ้าไหมไทย หรือ “แอนนา เสืองามเอี่ยม” Miss Universe Thailand 2022 ที่สวมมงกุฎสะบัดผ้าไทย เพื่อดึงการท่องเที่ยว แสดงให้เห็นถึงพลังซอฟต์ พาวเวอร์ของงานศิลปหัตถกรรมไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ sacit พยายามผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ งานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้สืบสานส่งต่อความเป็นไทย และเป็นกลุ่มหลักของประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคม หากสามารถสร้างคนรุ่นใหม่ เป็นเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรมไทยที่เข้มแข็งและใช้ช่องทางการตลาดผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลจะยิ่งทำให้เกิดพลังของงานศิลปหัตถกรรมไทยขยายตัวในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ”

 นายภาวี กล่าวอีกว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันนิยมการเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ และพบว่ากลุ่มคน Gen Y ที่อยู่ในช่วงวัย 25-40 ปี มีบทบาทและอิทธิพลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขณะที่ sacit เล็งเห็นถึงจุดแข็งของประเทศในด้านสินค้าและบริการที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม เป็นซอฟต์ พาวเวอร์สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งพบว่าสินค้าประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จึงได้เร่งต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อขยายฐานไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

ปั้นคนรุ่นใหม่ดันซอฟต์พาวเวอร์“หัตถกรรมไทย”รับส่งออกโต

 ที่ผ่านมาสินค้าและบริการที่เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ของไทย สามารถสร้างมูลค่าทางการค้าจำนวนมหาศาลให้กับประเทศกว่า 1.45 ล้านล้านบาทต่อปี ครอบคลุมใน 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า 5F ได้แก่ Food อาหารไทย, Film ภาพยนตร์และละครไทย, Fashion การออกแบบแฟชั่นไทยและผ้าไทย, Fighting ศิลปะการป้องกันตัวมวยไทย และ Festival เทศกาลประเพณีไทย

ปั้นคนรุ่นใหม่ดันซอฟต์พาวเวอร์“หัตถกรรมไทย”รับส่งออกโต

 อนึ่ง การส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เดือนมกราคม 2566 มีมูลค่า 22,883.74 ล้านบาท ลดลง 8.47% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลกระทบจากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อิตาลี, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร (กราฟิกประกอบ)

 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุดคือ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองมูลค่า 5,327.67 ล้านบาท, เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน 3,653.15 ล้านบาท, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 3,470.21 ล้านบาท, เครื่องใช้สำหรับเดินทาง 1,554.68 ล้านบาท และเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากวัตถุทออื่นๆ 1,381.50 ล้านบาท

 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่3,871 วันที่19-22 มีนาคม 2566