เช็คมติครม. มาตรการด้านภาษี 7 มีนาคม 2566 มัดรวมไว้ที่นี่ครบ

07 มี.ค. 2566 | 12:43 น.

เช็คมติครม. มาตรการด้านภาษี 7 มีนาคม 2566 เสนอเข้ามาโดยกระทรวงการคลัง หลายเรื่อง เช็ครายละเอียดโครการต่าง ๆ ที่ผ่านมาเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย รวมไว้ครบที่นี่

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มีนาคม 2566 มีวาระที่เสนอเข้ามาโดยกระทรวงการคลัง หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวของกับ "มาตรการทางด้านภาษี" ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการตามนโยบายหลายโครงการ ซึ่งวาระต่าง ๆ ได้ผ่านการเห็นชอบจากครม. แล้ว โยฐานเศรษฐกิจรวบรวมไว้ที่นี่ครบ

เว้นภาษีขายโทเคนดิจิทัล 

ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษี เนื่องมาจากการขายโทเคนดิจิทัล เพื่อการลงทุนที่เสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป 

ประมาณการการสูญเสียรายได้ของภาครัฐ ในช่วง 2 ปี ที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ประเมินรวมภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 35,279 ล้านบาท

เว้นภาษี รถยนต์ EV

1.ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่) พ.ศ. .... เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐ ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือ EV   

กระทรวงการคลัง ประเมินว่า รัฐอาจจะสูญเสียรายได้จากอากรขาเข้าโดยเฉลี่ยประมาณ 3,143 ล้านบาทต่อปี

2.ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ เรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รวม 9 รายการ ทั้ง แบตเตอรี่ ,มอเตอร์ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า , คอมเพรสเซอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า , ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ , ระบบควบคุมการขับขี่ , on-board charger , DC/DC converter , inverter - PCU inverter และ reduction gear 

กระทรวงการคลัง แจ้งว่ามาตรการนี้ไม่อยู่ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ แต่ได้ประมาณการจากการจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2568 จำนวน 43,000 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะสูญเสียประมาณ 8,600 ล้านบาท

เว้นภาษีบริจาค 4 กองทุนวิจัย

ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (ระยะที่ 3) พ.ศ. 2566-2568 โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือรายจ่ายที่บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน ได้แก่ 

1. กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา 2. กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข 3. กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 4. กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุนจำนวน 3,803 ราย จำนวนเงินบริจาครวมประมาณ 8.6 ล้านบาท

เว้นภาษีจ้างผู้พ้นโทษ

ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษออกไปอีก 4 ปี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (4 ปีภาษี) จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงการคลัง ประเมินว่า แม้มาตรการทางภาษีดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 705 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 176.25 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษได้มีงานทำหลังได้รับการปล่อยตัว จำนวน 39,000 คน สามารถประกอบอาชีพโดยสุจริตหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ

ภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา

ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา) เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ แก่ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬา โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินบริจาค ให้แก่ 

1.การกีฬาแห่งประเทศไทย 2. คณะกรรมการกีฬาจังหวัด 3.สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด 4. สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า "แห่งประเทศไทย" (เช่น สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬามวลสากลแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย) หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และ 5. กรมพลศึกษา

กระทรวงการคลัง ประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับคาดว่ามาตรการภาษีนี้จะมีผลให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงปีละ 1 ล้านบาท 2 ปีภาษี รวม 2 ล้านบาท