SCG ลุยธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจรลุยตลาดไทย-อาเซียนดันกำลังผลิตโต 4 เท่า

07 ก.พ. 2566 | 11:52 น.

SCG เผยโฉมธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร เจาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โรงงานขนาดใหญ่ โรงพยาบาล โรงแรม ทั้งตลาดไทยและอาเซียน มุ่งลดต้นทุน รับมือราคาพลังงานพุ่ง ตั้งเป้ากำลังผลิตโต 4 เท่า จากปี 2565 มี 40 เมกะวัตต์

​นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า จากการทำงานของเอสซีจีที่พยายามลดต้นทุนด้วยการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต โดยการพัฒนาและผลิตพลังงานโซลาเซลล์ใช้เองมากกว่า 5 ปี จนมีความรู้ความชำนาญ สามารถต่อยอดสู่ธุรกิจ เนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง เอสซีจีจึงพัฒนาสู่ธุรกิจบริการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจร โดยมุ่งเจากลุ่มเป้าหมาย กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย

SCG ลุยธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจรลุยตลาดไทย-อาเซียนดันกำลังผลิตโต 4 เท่า

การรุกเข้าตลาดผู้ให้บริการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจร เอสซีจี ชูจุดแข็งในการเป็นคู่คิดให้กับลูกค้า มีการคดวิเคราะห์ความเหมาะสมของการติดตั้ง การคำนวณค่าพลังงานที่ใช้และที่สามารถผลิตได้ มีการเข้าสำรวจพื้นที่ ประเมินความเหมาะสมในการติดตั้ง การขออนุญาตติดตั้ง การคำนวณงบฯ ลงทุนและการคืนทุน การซ่อมบำรุง ดูแลรักษา โดย เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เป็นผู้ลงทุนการติดตั้งให้ 100% 

สำหรับรูปแบบของโซล่าเซลล์ มี 3 รูปแบบ คือ แผงโซลาร์ซึ่งติดตั้งทั้งบนพื้นดิน หลังคา ผืนน้ำ และที่ดินว่างเปล่า ซึ่งบริษัทฯ มีศักยภาพในการให้บริการทั้ง 3 รูปแบบ โดยสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ เมื่อผลิตเกินความต้องการใช้ ด้วยนวัตกรรมระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)

SCG ลุยธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจรลุยตลาดไทย-อาเซียนดันกำลังผลิตโต 4 เท่า

ส่วนระบบการดูแล เอสซีจี พยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการผลิตและการให้บริการต่อเนื่อง เช่น การนำโดรนเข้ามาดูแล ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซล่า สำรวจแผงโซลาร์ที่ชำรุด (Drone Inspection) แจ้งเตือนให้ซ่อมบำรุง และ หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์ (Robot Cleaning) ที่สามารถทำงานได้เร็วกว่ากำลังคนถึง 2.5 เท่า เพิ่มความสะดวกสบายและรวดเร็ว 

ปัจจุบัน​เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ มีฐานลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ทั้งในไทยและอาเซียน อาทิ โรงพยาบาลในเครือ BDMS โตโยต้า ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีกำลังการผลิตรวมกว่า 234 เมกกะวัตต์ ล่าสุ ดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง ช่วยลดต้นทุนพลังงานร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 เท่าภายในปี 2566  กำหนดงบฯ ลงทุน วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่รักษ์โลก

 

นายวิสุทธ จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director เอสซีจี กล่าวว่า เพื่อลดการใช้พลังงานที่มีราคาพุ่งสูง ประกอบกับประเทศไทยมีเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย เปลือกข้าวโพด ประมาณ 21 ล้านตันต่อปี   หากกำจัดด้วยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลภาวะทั้งหมอก ควัน ฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อน  เอสซีจีจึงนำความเชี่ยวชาญด้านพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเศษวัสดุที่ทันสมัยให้เป็น เม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน  ปี 2565 เอสซีจีได้เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็น 34% จาก 26% ในปีก่อน  

 

ทั้งนี้ เอสซีจีได้รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกว่า 300,000 ตัน ทั้งใบอ้อย เปลือกข้าวโพด รากยางพารา ฟางข้าว แกลบ และอื่นๆ จากพื้นที่จังหวัดรอบโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี อยุธยา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และเร่งพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลในหลายรูปแบบ ทั้งชีวมวลประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Renewable Fuel) ทั้งด้านการใช้งาน  และค่าพลังงานอื่น ๆ เพื่อขยายเป็นธุรกิจในอนาคตด้วย

 

นายอรรถพงศ์ กล่าวว่า เอสซีจีเชื่อมั่นว่า การขยายธุรกิจพลังงานสะอาด ทั้งจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์และพลังงานชีวมวล จะมีศักยภาพสูง ตอบโจทย์ความคุ้มค่าและความสะดวกของลูกค้าตามเมกกะเทรนด์รักษ์โลก และแนวทาง ESG 4 Plus ที่เอสซีจีและเครือข่ายผู้ประกอบการต่าง ๆ มีส่วนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)  ตามเป้าหมายประเทศและโลกด้วย