ไขข้อข้องใจทำไม?ประเทศไทยห้ามส่งออกทราย

02 ก.พ. 2566 | 07:53 น.

ไขข้อข้องใจทำไม?ไทยห้ามส่งออกทราย  “พาณิชย์”ชี้เพื่อรักษาทรัพยากรในประเทศป้องกันตลิ่งทรุด 6ปี ไทยส่งออกทรายกว่า1.2หมื่นตัน มูลค่า160ล้านบาท ส่งออกลาวสูงสุด  ขณะที่การนำเข้ามากถึง7.3ล้านตัน มูลค่า4พันล้านบาท จีนเป็นแหล่งนำเข้าสูงสุด

หลังจากที่มคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ทรายเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นการสงวนทรายซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ไว้ใช้กับอุตสาหกรรมในประเทศนั้น

 

นายธัชชญาณ์พล อภิมนต์เตชบุตร  รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

 

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร  รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรการควบคุมการส่งออกทราย และยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ โดยปรับปรุงกำหนดให้ทรายตามพิกัดศุลกากรประเภท 25.05 เป็นทรายธรรมชาติทุกชนิด จะแต่งสีหรือไม่ก็ตาม ยกเว้นทรายที่มีโลหะปน ให้เป็นสินค้าห้ามส่งออก โดยไม่ได้กำหนดค่าซิลิกาออกไซต์ไว้  ได้แก่ ทรายซิลิกา ทรายควอร์ตซ์ และทรายอื่น ๆ

ไขข้อข้องใจทำไม?ประเทศไทยห้ามส่งออกทราย

 

แต่ก็มียกเว้นการส่งออกทราย  4  กรณี   คือ 1. ใช้ในงานวิจัยได้เท่านั้น 2.นำเป็นตัวอย่างเท่านั้น 3.หากต้องการนำติดตัวไปจะต้องไม่เกิน 2 กิโลกรัมเท่านั้น  และ4ใช้ในยานพาหนะซึ่งขึ้นอยู่กับพันธะสัญญาประเทศนั้นๆ เช่น ในเรือต้องมีทรายได้ไม่เกิน1 ตันเพื่อเอาไว้ถ่วงสมดุลเรือ และการป้องกันอัคคีภัยในเรือ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ.1974

 

ไขข้อข้องใจทำไม?ประเทศไทยห้ามส่งออกทราย

“ขั้นตอนจากนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งหลังจากประกาศเป็นมติครม. ก็จะมีหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวทั้งกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ กรมศุกลกากร  ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเตือนผู้ประกอบการให้มีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งขี้นตอนยังมีอีกต้องให้กฤษฎีฎาเห็นชอบ จะมีปรับปรุงส่วนไหนหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ส่งเรื่องกลับมายังต้นสังกัดและประกาศยังคับใช้ทันที ซึ่งน่าจะประมาณกลางปีหรือปลายปีนี้  ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯก็ทอดเวลาให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวอยู่แล้ว”

ไขข้อข้องใจทำไม?ประเทศไทยห้ามส่งออกทราย

 

ข้อดีของการประกาศห้ามส่งออกทรายก็จะเป็นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตลิ่งไม่ทรุด แร่ธาตุไม่ถูกนำออกไป เพราะหลายประเทศต้องการใช้ทรายจำนวนมาก ทั้งลาว มาเลเซีย ที่นำไปถมที่ถมทะเล  สาเหตุที่ต้องมีการสั่งยกเลิกการส่งออกทั้งหมดเป็นเพราะที่ผ่านมาที่มีการประชุมร่วมกับ ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาการเหมืองแร่  ต่างก็มองว่าต้องการให้มีการกำหนดพิกัดใก้ชัดเจน ซึ่งพอมีการระบุพิกัด ก็มีเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติของไทยเข้ามา

ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งออกทรายอีก   และเมื่อ ครม. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศฯ แล้ว จะส่งร่างดังกล่าวให้กับคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจร่างก่อนเสนอ รมว. ลงนามและประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน

 

 

ไขข้อข้องใจทำไม?ประเทศไทยห้ามส่งออกทราย

 

สำหรับการส่งออกนำเข้าสินค้าทรายของไทยในปี 2560 – 2565   พบว่า ช่วง 6 ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกทรายปริมาณ 12,009ตัน มูลค่า160.95ล้านบาท แบ่งเป็น ปี2560 ปริมาณ2610ตัน มูลค่า37.06ล้านบาท ประเทศที่ส่งออก เวียดนาม 28.80%  ลาว 13.87% ปากีสถาน 12.62%

  1. ปี2561 ปริมาณ 2,786ตัน มูลค่า 33.69ล้านบาท ประเทศที่ส่งออกอินเดีย 30.44% ปากีสถาน 27.04% ลาว 12.03%
  2. ปี2562 ปริมาณ 2,427ตัน มูลค่า 27,56ล้านบาท ประเทศที่ส่งออกปากีสถาน 30.75% ลาว21.08% อินเดีย18.18%
  3. ปี2563 ปริมาณ1,400ตัน มูลค่า19.09ล้านบาท ประเทศที่ส่งออก ลาว37.29% อินเดีย17.46% เมียนมา11.30%
  4. ปี2564 ปริมาณ 1,925ตัน มูลค่า26.55ล้านบาท ประเทศที่ส่งออก ลาว 38.54%  อินเดีย15.38% กัมพูชา8.83%
  5. ปี2565 ปริมาณ861ตัน มูลค่า17ล้านบาท  ประเทศที่ส่งออก ลาว31.68% กัมพูชา22.64% และมาเลเซีย16.11%

ในขณะที่ภาพรวมการนำเข้าทรายของไทย 6 ปี (2560-2565)พบว่ามีปริมาณรวม 7,301,485 ตัน มูลค่ารวม 4,042 ล้านบาทแบ่งเป็น

  • ปี2560 ปริมาณ 646,431 ตัน มูลค่า 465.20 ล้านบาท ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ1 คือ จีน 26.53% เวียดนาม18.53% ออสเตรเลีย 18.04%
  • ปี2561 ปริมาณ 459,192 ตัน มูลค่า 536.86 ล้านบาท ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ1 คือ ออสเตรเลีย 36.33% จีน 26.54% อินเดีย 10.52%
  • ปี2562 ปริมาณ 1,182,091 ตัน มูลค่า 527.31 ล้านบาท ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ1 คือ จีน 32.70% ออสเตรเลีย 17.39% ลาว 8.58%
  • ปี2563 ปริมาณ1,316,079 ตัน มูลค่า 431.23 ล้านบาท  ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ1 คือ จีน 41.74% ออสเตรเลีย 13.44%  ลาว 11.66%
  • ปี2564 ปริมาณ 1,820,663 ตัน มูลค่า755.89 ล้านบาท  ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ1 คือ จีน 61.19% ออสเตรเลีย 10.54% ลาว9.48%
  • ปี2565 ปริมาณ 1,817,029 ตัน มูลค่า 1,326 ล้านบาท   ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ1 คือ จีน 55.83% ออสเตรเลีย 20.54% และลาว5.17%

 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยได้มีการนำเข้าทรายเข้ามาจากจีน เพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น เช่นลาว หรือนำเข้าทรายจากลาวและส่งออกกลับไปที่ลาว  ซึ่งน่าจะได้ราคาดีกว่า