ดันไทยฮับผลิต-ชิ้นส่วน EV สร้างมูลค่าจีดีพีกว่า 2 แสนล.ปี 73

14 ธ.ค. 2565 | 08:39 น.

ดันไทยฮับผลิต-ชิ้นส่วน EV สร้างมูลค่าจีดีพีกว่า 2 แสนล.ปี 73 สุริยะสั่งเร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) และชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค 

 

โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็น 10% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด 

 

ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถโดยสาร รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ แบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุ รวมทั้งสิ้น 128 มาตรฐาน ได้แก่ เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 3 มาตรฐาน 

 

ดันไทยฮับผลิต-ชิ้นส่วน EV สร้างมูลค่าจีดีพีกว่า 2 แสนล้านบาทปี 73

ระบบประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 13 มาตรฐาน ความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า 39 มาตรฐาน สมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้า 8 มาตรฐานมอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 4 มาตรฐาน เซลล์และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 7 มาตรฐาน 

 

สายไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 25 มาตรฐาน ระบบสื่อสารสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 6 มาตรฐาน ระบบอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 22 มาตรฐาน คำศัพท์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 1 มาตรฐาน
 

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือศูนย์ทดสอบ ATTRIC แห่งแรกในภูมิภาค ASEAN เพื่อการยกระดับมาตรฐานและการวิจัย ประกอบด้วย การวิจัยพัฒนาทดสอบสมรรถนะยานยนต์และชิ้นส่วนต้นแบบ การทดสอบยางล้อ และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล 

 

“การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle | BEV) ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดการจดทะเบียนรถ BEV 10 เดือนแรกของปี 2565 ประมาณ 15,423 คัน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมียอดการใช้รถ BEV เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 คัน นับเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งพิจารณาจากการที่บีโอไออนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการจาก 17 บริษัท”