NCL รุกหนัก Non-Logistic เล็งธุรกิจบริการ-ความงาม ลุยควบรวมกิจการเพิ่ม

04 ธ.ค. 2565 | 06:54 น.

กลางปี 2564 มีการประกาศแต่งตั้ง “พงษ์เทพ วิชัยกุล” มือขวา “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” แห่งบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART นั่งตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อยกระดับธุรกิจให้เติบโตแข็งแกร่ง พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจ Non-Logistic

จนในเดือนสิงหาคม 2565 บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “NCL” ผู้ให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์ครบวงจร ได้แจงรายการขายหุ้นบิ๊กล็อตรวม 62,404,245 หุ้น หรือ 11.81% ส่งผลให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่เปลี่ยนแปลง และหนุน “พงษ์เทพ วิชัยกุล” ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่แทน “กิตติ พัวถาวรสกุล” พร้อมดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ซึ่งทาง NCL แจ้งว่า ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนไม่ต้องตกใจ เพราะการบริหารงานต่าง ๆ ยังเดินหน้าเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือการเติบโตของ NCL 

 

ทั้งนี้นับจากที่ “พงษ์เทพ” ได้เข้ามาทำหน้าที่บริหาร NCL ตั้งแต่กลางปี 2565 NCL ซึ่งมีธุรกิจเดิมคือ โลจิสติกส์ และธุรกิจบริการขนส่งครบวงจร (Freight Forwarder) ได้ต่อยอดแผนขยายธุรกิจ Non-Logistic ที่เริ่มเดินหน้าด้วยการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A ) ธุรกิจ Digital marketing & IT infrastructure มูลค่ารวม 250 ล้านบาท ด้วยวิธีแลกหุ้นพีพี จำนวน 72,518,676 หุ้น คิดเป็น 13.46% พร้อมถือหุ้น บริษัท ชีส ดิจิตอล เน็ตเวิร์ค จำกัด (CDN) สัดส่วน 25% ผ่านบริษัท บีโอบี โฮลดิ้ง จำกัด

นายพงษ์เทพ วิชัยกุล กรรมการผู้จัดการ NCL

 

“พงษ์เทพ” ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ ระบุการลงทุนในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถด้านการแข่งขัน การสร้างฐานกระแสเงินสด การสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น

 

การขยายพอร์ตธุรกิจใหม่ของ NCL ยังไม่ได้จบเท่านั้น NCL ยังเตรียมซื้อหุ้นสามัญของบริษัท หลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด (AWS) ในสัดส่วน 60% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว แต่ล่าสุดได้ยกเลิกการลงทุน เนื่องจาก  AWS ถูกระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเข้าลงทุนของบริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติให้ยกเลิกการลงทุนในบริษัท AWS และยกเลิกสัญญาการซื้อขายหุ้นของAWS ทั้งหมด

 

“พงษ์เทพ”  เล่าว่า ในปี 2566 เตรียมที่จะนำ บริษัท ชีส ดิจิตอล เน็ตเวิร์ค จำกัด (CDN) เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ  และยังมีแผนที่จะ M&A  ธุรกิจใหม่เพิ่มเติม โดยธุรกิจที่มีความสนใจ คือ ธุรกิจบริการ และความสวยความงาม

 

“ผมชอบทำ M&A และเรามีแผนที่จะทำ M&A ไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นการสร้างการเติบโตจากภายใน หรือ Organic Growth เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้บริษัทเติบโต เพราะธุรกิจโลจิสติกส์ ค่าเฟรทก็ขึ้น ๆ ลงๆ เราก็ต้องพยายามหารายได้จากส่วนอื่นเข้ามาเพื่อบาลานซ์พอร์ตของบริษัท”

 

“พงษ์เทพ” อธิบายว่า หลักในการลงทุนของ NCL คือ จะลงทุนในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ ต่อยอดได้ และปลายทางธุรกิจที่เลือกมาต้องสามารถนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ ซึ่ง NCL มีพันธมิตรมาก และมีทีมงานที่แข็งแกร่ง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้มีความมั่นใจในการลงทุน

 

ส่วนการสร้างทีมของ NCL “พงษ์เทพ” ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญมาก ๆ กับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ทำให้คนทำงานมีความสุขในการทำงาน องค์กรน่าอยู่ และยังสร้างสังคมของการเรียนรู้ พึ่งพาอาศัยกันได้ โดยคนในองค์กรต้องรักกัน ส่วนผู้นำก็ต้องทำหน้าที่บาลานซ์ทุกอย่างให้เหมาะสม

 

 “เราต้องเลือกทำสิ่งที่เรารัก บริษัทก็เหมือนลูกเรา เหมือนบ้านเรา เมื่อเป็นสิ่งที่เรารัก เราก็จะทำงานอย่างมีความสุข และขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้ สุดท้ายคือ ต้องมีกลยุทธ์ที่ดี หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ NCLคือ ธุรกิจเดิมไม่ทิ้ง และต้องเติบโตเรื่อยๆ ปันผลข้างในขึ้นมา และถ้าอยากเติบโตมากขึ้น ก็ต้องทำ M&A” นายพงษ์เทพ กล่าวทิ้งท้าย