ไทยแซงเวียดนาม 10 เดือนส่งออกข้าว6.02ล้านตัน

02 ธ.ค. 2565 | 07:32 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2565 | 14:38 น.

ไทยแซงเวียดนาม 10 เดือนส่งออกข้าว6.02ล้านตัน ขึ้นแท่นเบอร์สองของโลกรองจากอินเดีย ขณะที่ค่าบาทอ่อนดันมูลค่าส่งออกเพิ่ม32.4% หรือ1.09แสนล้านบาท

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข่าวไทย เปิดเผยถึง การส่งออกข้าวในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม 2565) มีปริมาณ 6,203,270 ตัน มูลค่า 109,260.8 ล้านบาท (3,175.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 33% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 32.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 4,662,981 ตัน มูลค่า 82,461.8 ล้านบาท (2,631 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามมีปริมาณการส่งออกข้าวเป็นอันดับสาม 6.01ล้านตัน  และเบอร์หนึ่งของการส่งออกยังคงเป็นอินเดีนมีปริมาณ 17.06ล้านตัน ส่วน ปากีสถานมีปริมาณส่งออก3.40ล้านตัน

 

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศ นายกสมาคมผู้ส่งออกข่าวไทย

  ส่วนการส่งออกข้าวในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ โดยมีปริมาณ 794,224 ตัน มูลค่า 13,974.1 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 24.7% และ 20.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 636,731 ตัน มูลค่า 11,595.2 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนตุลาคมผู้ส่งออกต่างเร่งส่งมอบข้าวตามสัญญาที่ค้างอยู่จากเดือนก่อนทั้งในส่วนของข้าวขาวและข้าวนึ่ง เพื่อให้ทันใช้ในช่วงเทศกาลปลายปี ประกอบในช่วงนี้ผลผลิตข้าวของไทยมีออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องจึงทำให้มีการส่งมอบได้มากขึ้น

ไทยแซงเวียดนาม 10 เดือนส่งออกข้าว6.02ล้านตัน

“เดือนตุลาคมมีการส่งออกข้าวขาวปริมาณมากถึง 422,429 ตัน เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศอิรัก จีน ญี่ปุ่น แองโกล่า โมซัมบิก แคเมอรูน ขณะที่ข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 207,841 ตัน เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน”

ไทยแซงเวียดนาม 10 เดือนส่งออกข้าว6.02ล้านตัน

สำหรับตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นตลาดในแอฟริกา เช่น เบนิน แอฟริกาใต้ บังคลาเทศ เยเมน แคเมอรูน ไนเจอร์ เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 67,459 ตัน ลดลง 10% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น

ทั้งนี้สมาคมฯคาดว่าในเดือนพฤศจิกายน 2565 การส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 750,000-800,000 เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาที่ค้างส่งมอบจากเดือนก่อนพอสมคมวร ประกอบกับตลาดที่สำคัญยังคงมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีนในช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 โดยคาดว่าในปีนี้การส่งออกข้าวน่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ 7.5 ล้านตัน โดยตลาดสำคัญได้แก่ อิรัก แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ จีน เบนิน ญี่ปุ่น เซเนกัล แองโกล่า เยเมน ฟิลิปปินส์ โมซัมบิก ฮ่องกง แคนาดา เป็นต้น ขณะที่ภาวะราคาข้าวของไทยในช่วงนี้ยังอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากคู่แข่งมากนัก    

 

ไทยแซงเวียดนาม 10 เดือนส่งออกข้าว6.02ล้านตัน

      จึงทำให้ยังสามารถแข่งขันได้ แม้ว่าค่าเงินบาทจะเริ่มแข็งค่าขึ้นตามภาวะตลาดแล้วก็ตาม โดยราคาข้าวขาว 5% ของไทย         ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 456 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 443-447, 393-397 และ 423-427 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 373-377 และ 453-457 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน