ชี้ชะตา‘กัญชา’ ไปต่อหรือกลับสู่ ‘ยาเสพติด’

20 พ.ย. 2565 | 12:44 น.

เป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง สำหรับเรื่องราวของ “กัญชา” ทั้งในวงประชุมครม. และสังคมรอบด้าน จนที่สุดแล้วเกิดเป็นคำถามที่ว่า ชะตากรรมของ “กัญชา” ควรเดินหน้า ต่อหรือถอนกลับไปเป็นยาเสพติด?

หนึ่งในมุมมองที่ฉายภาพได้อย่างน่าสนใจ ในฐานะนักวิชาการที่ครํ่าหวอดและศึกษาเรื่องราวของ “กัญชา” คือ “ดร.ไพศาล การถาง” รองคณบดีฝ่ายบริหารและฝ่ายวางแผน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) สะท้อนให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังว่า

ดร.ไพศาล การถาง

วันนี้เส้นทางของกัญชาเราเดินมาได้ดีมาก แต่ปัญหาคือเราไม่ได้สร้างกลไกการกำกับอย่างเป็นระบบ ดังนั้นแม้โอกาสจะมีมากมายแต่ถ้ากฎหมายไม่ชัด ทำให้สุ่มเสี่ยงที่กลุ่มเปราะบางและเด็กมีโอกาสเข้าถึง ซึ่งเกณฑ์พ.ร.บ.จริงๆ สาระสำคัญคือ ป้องกันผู้เสพรายใหม่ที่จะเข้าถึง พอมีความไม่ชัดเจนเรื่องกฎหมายก็จะนำเข้าสู่การกำกับดูแลที่ไม่เป็นระบบ ซึ่งภาพตรงนี้ต่างชาติเองกำลังจับตามองว่า “เสรีเกินไปหรือไม่และจะกำกับดูแลอย่างไร”

 

สิ่งที่เขากังวลมากที่สุดคือ “คุณภาพกับมาตรฐาน” คำถามคือในการวัดมาตรฐานคุณภาพประเทศ ไทยจะใช้เกณฑ์อะไรในการวัด วันนี้เราไม่ได้ Follow up ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นจริงๆ และตรงนี้จะกลายเป็นกับดักของการเดินหน้าเรื่องกัญชาและกัญชงในอนาคต และคนที่จะได้รับผลกระทบนี้แน่ๆคือเกษตรกรรวมทั้งคนที่ปลูกในบ้านเพื่อใช้รักษาสุขภาพอีก 8 แสนราย

ชี้ชะตา‘กัญชา’ ไปต่อหรือกลับสู่ ‘ยาเสพติด’

ประเด็นที่ว่าควรจะกำหนดให้ “กัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติดหรือควรจะเดินหน้าต่อ ส่วนตัวมองว่า “ควรเดินหน้าต่อ” เหตุผลคือ กัญชาเกิดมาเพื่อใช้รักษาสุขภาพและใช้ในการดูแลคน ถ้าใช้ให้ถูกต้อง ภายใต้ การดูแลและมีความรับผิดชอบร่วมกันจริงๆ “ไปต่อได้” ดังนั้นโจทย์สำคัญวันนี้คือ รัฐควรเคลียร์ทุกอย่างให้ชัดเจนว่า “กัญชามุ่งการแพทย์และสุขภาพ”

 

แต่ถ้าวันนี้จะถอยออกมาได้อาจจะให้สั่งจ่ายผ่านคลินิก โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนและให้บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนโบราณมีสิทธิ์ในการสั่งจ่าย นี่คือโจทย์ เพราะอย่าลืมว่าถ้าแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านสั่งจ่ายได้มุมหนึ่งคือการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนกันถ้าวางเป็นระบบจริงๆ

 

ส่วนกัญชาภาคประชาชนควรจะต้องถอยระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องสร้างพื้นที่และโอกาสให้คนที่เจ็บป่วยจริงๆ เข้าถึงอย่างถ้วนหน้าและไม่ควรจะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึง เพราะที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยอาจจะยังไม่พร้อม เพราะวุฒิภาวะของสังคมมีปัญหาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา คนใคร่ขาย ขาย และขายโดยปราศจากความรับผิดชอบ

 

ดร.ไพศาล บอกอีกว่า เราควรจะต้องวางโพซิชันนิ่งให้ชัดเจน และกัญชาก็ควรที่จะอยู่ในสถานะของ “สมุนไพรควบคุม” ส่วนความเสรีมาก-น้อยจะถูกกำกับด้วยความรับผิดชอบและการออกกติกามาเพื่อกำกับดูแล 

 

“การกลับมาเป็นยาเสพติด ผลกระทบจะเยอะโดยเฉพาะผล กระทบทางสังคมมีแน่ แม้จะมองไม่เห็นในตอนนี้ ส่วนตัวมองแค่ว่าวันนี้เราเดินมาไกลแล้ว แต่ความที่เราไม่มีความรับผิดชอบต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหา”

 

อย่างไรก็ตาม “ร่างพ.ร.บ. กัญชาฯ” ที่ล่าช้าประกอบกับการออกประกาศคุม “ช่อดอก” ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการร้านขายช่อดอกที่อาจจะกลายเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งโดยหลักแล้วการสั่งจ่ายเพื่อสูบถือว่ากระทำไม่ได้แต่ขึ้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าถ้าจะกระทำจะต้องกระทำผ่านบุคลากรทางการแพทย์ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าตอนนี้ผิดหรือไม่ คำตอบคือ “ผิด” สุดท้ายแล้วร้านเหล่านี้โดยทางออกก็คงจะต้องมีบุคลากรตามประกาศเพื่อที่จะทำหน้าที่ในการสั่งจ่าย

ที่สำคัญ “รัฐ” ควรที่จะต้องออกมาประชาสัมพันธ์และพูดให้ชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าถามว่า วันนี้กลไกรัฐมีปัญหาหรือไม่ ผมบอกว่า “ใช่” เพราะวันนี้ด้วยความไม่ชัดเรื่องประชาสัมพันธ์ จึงเกิดปัญหา ส่วนพ.ร.บ. เรายังลุ้นว่าหลังจากผ่านเอเปคไปก็มีโอกาส “มั้ง”

 

“พรบ.ชุดนี้เป็นพ.ร.บ.ที่มีการซินเนอร์จี้กันในทางการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ไปยำกัน มาตราที่เพิ่มเข้ามาเป็นมาตราที่ขบกันทางความคิด มีการเพิ่มกติกาบางอย่างที่เห็นว่าควรจะต้องมีการกำกับดูแล ผมมองว่าการเมืองคือการเมือง แต่วันนี้ถ้าพ.ร.บ.ไม่ออกมาจะมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ และกลุ่มคนที่อาจจะเสียโอกาส กลุ่มคนที่เสียโอกาสหลักคือ “ประชาชน” ที่จะเสียโอกาสในเรื่องของการดูแลสุขภาพตัวเอง การทำกิจกรรมทางธุรกิจ และภาพลักษณ์ที่มีกับต่างประเทศ”