“วีระพล”แจง 3 สาเหตุค่าไฟแพง ชี้แนวโน้มค่าไฟปีหน้ายังปรับขึ้น 

17 พ.ย. 2565 | 07:13 น.

“วีระพล จิรประดิษฐกุล” อดีตบอร์ด กกพ. ชี้ชัด 3 ปัจจัยค่าไฟแพง ก๊าซอ่าวไทยขาด-นำเข้า LNG ราคาแพงเพิ่ม-บาทอ่อน ห่วงปริมาณนำเข้าก๊าซ LNG สูงเกือบ 20% จากปกตินำเข้า 6-8% ชี้ค่าไฟปีหน้ายังมีแนวโน้มปรับขึ้นจากราคาอ้างอิงที่สูง-ความไม่แน่นอนของราคาพลังงาน 

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ) กล่าวในรายการ SMART ENERGY ออกอากาศทาง ททบ. 5 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ค่าไฟฟ้าที่มีการปรับขึ้นมาตลอดในปี 2565 มาจากปัจจัยต่างๆอย่างน้อย 3 ปัจจัยหลักที่มีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

 

ปัจจัยแรกมาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และก๊าซจากเมียนมาที่นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยมีปริมาณลดลงทำให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศเข้ามาผลิตไฟฟ้าทดแทน จากเดิมที่เคยมีการนำก๊าซ LNG เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพียง  6-8% แต่ปัจจุบันมีการนำเข้าเพิ่มมาเกือบ 20% 

“การขุดเจาะแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานจาก บริษัทเดิม มาเป็นบริษัท ปตท สผ. ทำให้กำลังการผลิตลดลง ในขณะเดียวกัน แก๊สธรรมชาติจากเมียนมาก็น้อยกว่าแผนที่คาดไว้  ทำให้ต้องนำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้าในปริมาณที่มากขึ้น” นายวีระพล กล่าว 


ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบัน  รัฐบาลให้โรงไฟฟ้าหลายโรง ใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ผลิตไฟฟ้า แทนแก๊สธรรมชิตและ LNG เพราะถูกกว่า  ทำให้ควบคุมต้นทุนค่าไฟฟ้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าทุกโรงจะใช้น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงได้  จึงทำให้ปริมาณการนำเข้า LNG ยังมีปริมาณที่สูงมากอยู่

ปัจจัยที่สอง เกี่ยวข้องกับปัจจัยแรกแต่เกี่ยวเนื่องกับวิกฤติสงครามยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานและก๊าซเพิ่มมากขึ้น โดยการนำเข้าก๊าซ LNG ที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยเป็นจังหวะที่ LNG  มีราคาพุ่งขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด เริ่มคลี่คลาย พอมาเจอสงครามยูเครน-รัสเซีย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์  ทำให้ราคา LNG ซึ่งปีที่แล้วอยู่ประมาณ 10เหรียญต่อล้านบีทียู ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 30-40 และ 50 เหรียญต่อล้านบีทียู ถือว่าสูงขึ้นมาก 

 

และปัจจัยที่สาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทที่ตอนกลางปีอยู่ที่ 33 บาทต่อ1 ดอลลาร์ อ่อนค่าไปอยู่ที่ประมาณ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าบาทที่อ่อนลงทุกๆ 1 บาท ทำให้ค่าไฟสูงขึ้นประมาณ 5-6 สตางค์ต่อหน่วย

 

สำหรับสถานการณ์ค่าไฟฟ้าปี 2566 นายวีรพล มองว่า ยังเป็นขาขึ้น  เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะอิงกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลังประมาณ 1 ปี  เพราะฉะนั้น ราคาก๊าซต้นปีหน้า จะสูงกว่าต้นปีนี้ เพราะราคาน้ำมันต้นปีนี้สูงกว่าช่วงที่ผ่านมา 

 

ขณะที่ราคาซื้อขายก๊าซ  LNG ราคาล่วงหน้าในปีหน้า อยู่ที่ประมาณ 30 – 35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู   ซึ่งยังไม่ได้สูงขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากที่อาจทำให้ราคาก๊าซLNG เพิ่มขึ้นได้อีก จึงประเมินว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 2566 ยังเป็นขาขึ้นอยู่