เอกชนจี้รัฐออกมาตรการหนุนใช้พลังงานทางเลือกในโรงงานสู้ค่าไฟแพง

30 ก.ย. 2565 | 06:20 น.

เอกชนจี้รัฐออกมาตรการหนุนใช้พลังงานทางเลือกในโรงงานสู้ค่าไฟแพง หลังกระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเตรียมพร้อมปฏิบัติตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 21 ในเดือนกันยายน 2565 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองอุตสาหกรรมต่อการเปิดเสรีพลังงานทางเลือก” พบว่า จากผลกระทบของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมปฏิบัติตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) เป็นต้น 

 

ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานมากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจากผลสำรวจ FTI Poll พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มีแผนที่จะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานในทันที 

 

โดยมองว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ เป็นแหล่งพลังงานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับภาคอุตสาหกรรม และคาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประมาณ 25% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของโรงงาน 

ในส่วนของการเปิดเสรีพลังงานทางเลือก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า ภาครัฐควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบการขออนุมัติอนุญาตผลิตไฟฟ้าใช้เองให้สะดวกยิ่งขึ้น เปิดให้เอกชนสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินกลับให้แก่ภาครัฐได้ 

 

รวมทั้งควรออกมาตรการแรงจูงใจให้เอกชนมีการลงทุนผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อลดภาระของภาครัฐในการบริหารจัดการไฟฟ้าและส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ของประเทศไทย 

 

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.

 

นอกจากนี้เพื่อรองรับการเปิดเสรีพลังงานทางเลือกในอนาคต ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน มีการจัดตั้งหน่วยงาน One stop service เพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุมัติอนุญาต รวมทั้งบูรณาการปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้า ค่าบริการต่างๆ และค่าไฟฟ้า เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และลดภาระผู้บริโภค 

 

ซึ่งผู้บริหาร ส.อ.ท. คาดการณ์ว่า แนวโน้มความต้องการพลังงานของภาคอุตสาหกรรมในปี 2566 จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 10% จากปี 2565 อันเนื่องมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น และการส่งออกที่จะขยายตัวต่อเนื่อง

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 220 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 21 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้

 

1.  ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานทั้งหมด (Single choice)

  • 25% 39.6%
  • ไม่จำเป็น 31.4%
  • 50% 19.5%
  • 75%  9.5% 


2.  ภาคอุตสาหกรรมจะมีแผนในการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในเมื่อไหร่ (Single choice)
   

  • ทันที 34.1%
  • ภายใน 3 ปี 29.1%
  • ภายใน 1 ปี 23.6%
  • ภายใน 5 ปี 13.2%


3.  ประเภทพลังงานทางเลือกใดที่จะเหมาะสมนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรม (Multiple choices)
     

  • แสงอาทิตย์ 95.9%
  • ชีวมวล 28.2% 
  • ก๊าซชีวภาพ 14.1%
  • พลังงานจากขยะ 13.6%
  • พลังงานลม   5.9%

 

จี้รัฐออกมาตรการหนุนเอกชนใช้พลังงานทางเลือก


4.  ปัจจัยใดจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายพลังงานทางเลือกได้อย่างเสรี (Multiple choices)
   

  • ปรับปรุงกฎระเบียบการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายไฟฟ้ากลับ     78.6% ให้แก่ภาครัฐให้สะดวก และเกิดแรงจูงใจในการลงทุน 
  • ส่งเสริมให้เกิดตลาดซื้อขายพลังงานที่เอกชนสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม     65.0% (Energy Trading) หรือแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้าเสรี
  • สนับสนุนเงินลงทุนในการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage)      62.3% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าใช้เอง
  • ส่งเสริมและปรับขั้นตอนให้เอกชนสามารถลงทุนโรงไฟฟ้าได้สะดวก     59.5% เพื่อให้เกิดการแข่งขัน       


5.  ภาครัฐจะต้องปรับปรุงเรื่องใดเพื่อรองรับการเปิดเสรีพลังงานทางเลือก (Multiple choices)
     

  • ส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน     75.5%
  • จัดตั้งหน่วยงาน One stop service เพื่ออำนวยความสะดวก 60.5% ในการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าใช้เองและรับซื้อไฟฟ้าคืน รวมทั้ง ปรับลดค่าใช้จ่ายในการขออนุญาต
  • บูรณาการปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้า 58.6% ค่าบริการต่างๆ และค่าไฟฟ้า เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เกิดการแข่งขันด้านราคาและลดภาระผู้บริโภค 
  • ปลดล็อคเงื่อนไขการผลิตไฟฟ้าให้สามารถมีกำลังการผลิตได้เกิน 1 เมกะวัตต์ 58.6% โดยที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4)


6.  แนวโน้มความต้องการพลังงานของภาคอุตสาหกรรมในปี 2566 จะเป็นไปในทิศทางใด (Single choice)
   

  • เพิ่มขึ้น 10% 47.3%
  • คงที่ 28.2%
  • เพิ่มขึ้น 20% 21.4%
  • ลดลง 10%   1.8%
  • ลดลง 20%   1.3%