“ระบบตรวจวัดข้อมูลระยะไกลความปลอดภัยเขื่อน”คว้ารางวัลเทคโนโลยีดีเด่น

01 พ.ย. 2565 | 12:37 น.

นักวิจัยไทยโชว์ผลงานนวัตกรรมสร้างสรรค์ระดับโลก คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นจากผลงาน ระบบติดตามตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน และโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง ขณะบิ๊กธุรกิจไทย-เทศร่วมโชว์กึ๋นสู่อนาคตที่ยั่งยืน

รายงานข่าวจากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เผยว่า กลุ่มบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสมาคมฯ (TMA-TIMG) ได้ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ได้จัดงาน Outstanding Technologist Awards and TechInno Forum 2022 ในหัวข้อ “Turning Cutting-Edge Tech Into Business”  โดยได้รับการสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้จากหลายองค์กรชั้นนำของประเทศ  เพื่อเป็นแพลตฟอร์มแห่งการแบ่งปันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญและนักเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก รวมทั้งเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของรางวัลพระราชทานนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2565

น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการคัดเลือก รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2565 กล่าวว่า การจัดงานเชิดชูเกียรติในครั้งนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจแก่นักเทคโนโลยีไทยให้เกิดความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสร้างผลงานที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

 

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น Outstanding Technologist Award 2022  ได้แก่  ดร.กนกเวทย์  ตั้งพิมลรัตน์ นางสาวนันทิยา ระพิทย์พันธ์ และคณะ  จาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากผลงาน : ระบบติดตามตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน

 

ส่วนนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ Young Technologist Award 2022 ได้แก่ ดร.มนัสชัย  คุณาเศรษฐ สังกัด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  จากผลงาน : โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง

 

โดยทั้งหมดจะเข้ารับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 48 (วทท.48) ในวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน  2565 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

“ระบบตรวจวัดข้อมูลระยะไกลความปลอดภัยเขื่อน”คว้ารางวัลเทคโนโลยีดีเด่น

ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  และประธานกลุ่มบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TIMG) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้มุ่งเน้นให้สามารถพัฒนาไปสู่การต่อยอดงานวิจัยและพัฒนา นำไปสู่แพลตฟอร์มที่จะดึงนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จมาแบ่งปันวิธีการ ตลอดจนแนวคิดของความแตกต่างหลากหลายของวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี และส่วนสำคัญของงานคือ การได้เชิดชูเกียรติของนักเทคโนโลยีคนไทย  รวมทั้งมุ่งหวังที่จะนำเสนอกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการให้ทุกคนได้รับประโยชน์  ช่วยจุดประกายความคิด ทำให้เกิดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

 

สำหรับช่วงการสัมมนา Inspiring the Sustainable Future แรงบันดาลใจสู่อนาคตที่ยั่งยืน ในหัวข้อ Feeding the Future World - อาหารสำหรับโลกอนาคต  โนกา เซลา ชาเลฟ CEO บริษัท Fresh Start สตาร์ทอัพด้านอาหารจากประเทศอิสราเอล เล่าถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับอนาคตที่เข้ามามีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นว่า เนื่องจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่จำกัด  การสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีห่วงโซ่ที่ซับซ้อนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อีกทั้งยังได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาสิ่งแวดล้อม   

 

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์จะไม่เพียงพออีกต่อไป อุตสาหกรรมอาหารทางเลือกจึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก โดยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนกว่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอาหารในรูปแบบใหม่มากมาย เช่น อาหารจากแมลง การเพาะเซลล์ และโปรตีนจากพืช แต่ทุกรูปแบบก็มีความท้าทายที่แตกต่างกันไป และยังคงต้องพัฒนากันต่อไป เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

 

ในหัวข้อ Business Opportunities of Electric Mobility Transition อีเลียส พอยรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Virta แพลตฟอร์มการชาร์จ EV และประธานคณะทำงานด้านยานยนต์ไฟฟ้า EURELECTRIC ประเทศฟินแลนด์ กล่าวถึงโอกาสทางธุรกิจของรถยนต์ไฟฟ้าว่า  ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในตอนนี้ ซึ่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV คือคำตอบที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากการเปลี่ยนมาใช้รถ EV จะสามารถลดปริมาณคาร์บอน และผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อุตสาหกรรม EV ยังมีความท้าทายหลายอย่าง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ภาครัฐต้องสนับสนุน และช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามา

 

ในหัวข้อ Smart Well-being  ร็อกซี เกลไมสเตอร์ Associate จากบริษัทสถาปัตยกรรม Foster + Partners ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า มนุษย์ใช้เวลาอยู่ภายในอาคารมากถึง 87% ของเวลาทั้งหมด ดังนั้นสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์จึงเกี่ยวพันกับอาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้นเชื่อว่างานออกแบบที่ดีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง และทำให้โลกดีขึ้นได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมมือกันทำเป้าหมายให้สำเร็จ โดยไม่เพียงแค่ลดการใช้ทรัพยากร หรือเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผู้ที่จะเข้ามาใช้งานในอาคารในอนาคตด้วย

 

ส่วนหัวข้อ Into the Space   ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า อวกาศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เทคโนโลยีหลายอย่างที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันต่างอาศัยเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ เช่น GPS หรือดาวเทียม ซึ่งจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต ธุรกิจนี้จึงเป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่มีโอกาสสร้างงาน สร้างการเติบโต และสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกมาก ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศถึง 500 บริษัททั่วโลก รวมถึง 6-7 บริษัทในไทย แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ต้องอาศัยภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ ตลอดจนการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากในภาคพื้นทวีป และมีโอกาสการพัฒนาได้อีกไกลหากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม

     

“ระบบตรวจวัดข้อมูลระยะไกลความปลอดภัยเขื่อน”คว้ารางวัลเทคโนโลยีดีเด่น

      

ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง Making Use of Technology ,การประชุมหารือ Roundtable Discussion “How to create new business models out of technology” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสพบปะ และสนทนากันอย่างใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในประเด็นธุรกิจใหม่

 

โดยในหัวข้อ Smart Mobility โดย อีเลียส พอยรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Virta แพลตฟอร์มการชาร์จ EV และประธานคณะทำงานด้านยานยนต์ไฟฟ้า EURELECTRIC ประเทศฟินแลนด์, จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ Innovation Management Office บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และ รวี บุญสินสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจใหม่และนวัตกรรม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 

 

สรุปประเด็นโดยรวมในที่ประชุมระบุ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า EV จะเป็นกำลังสำคัญในการรับมือกับ Climate Change แม้ในปัจจุบันการใช้ EV จะยังไม่แพร่หลายเทียบเท่าเครื่องยนต์ปกติ แต่จากการที่ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี การผลักดันด้านพลังงานสะอาดไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน แต่ต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงาน และความสามารถในการจ่ายของผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กันด้วย หากเร่งรีบเกินไปอาจส่งผลให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา เช่นในประเทศจีนที่ส่งเสริมด้าน EV อย่างดุเดือด จนมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก แต่โครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จกลับไม่เพียงพอ จนต้องต่อคิวชาร์จกันนานหลายชั่วโมง