สหรัฐหวั่นแสนยานุภาพจีน ไล่บี้แซงหน้าด้านเทคโนโลยี 

28 ต.ค. 2565 | 08:57 น.

ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา แสดงความกังวลถึงบทบาทของจีนที่จ่อเบียดแซงสหรัฐ ในด้านเทคโนโลยีที่สำคัญหลากหลายสาขา

 

ในการประชุมของเจ้าหน้าที่สหรัฐ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงบรรดาผู้บริหารจากภาคธุรกิจเอกชน ณ กรุงวอชิงตัน ช่วงกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ในประเด็นความกังวลที่ประเทศสหรัฐ เริ่มที่จะตามหลัง จีน ในด้าน การพัฒนาเทคโนโลยีหลักๆ หลายอย่าง สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตที่ไม่สดใสนักในวงการไอทีของสหรัฐ และอาจเปิดโอกาสให้ประเทศอื่น ๆ ก้าวขึ้นมาท้าทายสหรัฐอเมริกาในด้านการพัฒนา เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

 

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดย โครงการ Special Competitive Studies Project หรือ SCSP ซึ่งเป็นความพยายามของนาย เอริก ชมิดต์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทกูเกิล ที่มีเป้าหมายมุ่งทำให้สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำด้านการแข่งขันเชิงเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ไปจนถึงปี 2030 อันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อการกำหนดอนาคตของประเทศในอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

ผู้เข้าร่วมการประชุมนี้ต่างแสดงความวิตกกังวลเพราะเห็นว่าศักยภาพในการแข่งขันของสหรัฐนั้น กำลังถูกคุกคาม

 

อนาคตที่ไม่สดใสนัก

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า ก่อนหน้าการประชุมเพียงไม่กี่วัน ทางโครงการ SCSP ได้ออกรายงานประเมินสถานการณ์ หากประเทศจีนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า

 

“เราต้องจินตนาการถึงโลกที่ถูกควบคุมโดยรัฐที่เป็นเผด็จการ ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การควบคุมการผลิตเทคโนโลยีที่สำคัญ รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจและการทหาร อย่างเช่น เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีพลังงานใหม่”

 

ในรายงานยังคาดการณ์ถึง อนาคตของประเทศจีนที่จะสามารถทำเงินได้มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ และช่วยยกระดับการปกครองระบอบเผด็จการให้เหนือกว่าประชาธิปไตย

 

 

นอกจากนี้ ยังประเมินความน่ากลัวของสถานการณ์ที่ประเทศจีนส่งเสริม แนวคิดการใช้งานอินเทอร์เน็ต “แบบควบคุมเบ็ดเสร็จจากศูนย์กลาง” (sovereign internet) ซึ่งแต่ละประเทศจะจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ตของประชาชน ซึ่งจีนอาจจะเป็นผู้ที่พัฒนาและควบคุมเทคโนโลยีหลัก สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

 

ในรายงานยังชี้ด้วยว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กองทัพสหรัฐอาจจะสูญเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ให้แก่จีนและประเทศคู่แข่งอื่น ๆ และจีนอาจจะตัดขาดการจัดส่ง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตด้านเทคโนโลยี

 

ในการประชุมสุดยอดดังกล่าว นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐแสดงความเห็นว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ในการก้าวตามให้ทันการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ของประเทศจีน

 

“ไม่มีอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันระดับโลก และดำรงความแข็งแกร่งของสหรัฐ การที่อเมริกาจะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ก็จำเป็นที่จะต้อง เริ่มใหม่ ฟื้นฟู และจัดการดูแล” ซัลลิแวนกล่าว และเสริมว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับคู่แข่งที่มุ่งมั่นที่จะแซงหน้าสหรัฐให้ได้ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และพร้อมที่จะทุ่มทรัพยากรในระดับที่แทบจะไร้ขีดจำกัดเพื่อการนี้

สหรัฐหวั่นแสนยานุภาพจีน ไล่บี้แซงหน้าด้านเทคโนโลยี  กฏหมาย CHIPS ให้การสนับสนุนมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตไมโครชิปขั้นสูงในสหรัฐอเมริกา

 

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐ ยังได้กล่าวถึงฝ่ายบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ตระหนักถึงภัยคุกคามและกำลังดำเนินการเพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยซัลลิแวนได้พูดถึงกฏหมาย “CHIPS” ที่ให้การสนับสนุนมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตไมโครชิปขั้นสูงในสหรัฐ

 

“เรากำลังลงทุนในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ เพื่อให้สหรัฐกลับมาสู่เส้นทางของการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต เราเพิ่มความพยายามเป็นทวีคูณในการดึงดูดคนที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก อีกทั้งยังได้ปรับเครื่องมือเทคโนโลยีด้านการป้องกันให้ตรงกับการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ ที่สำคัญที่สุดได้ดำเนินการทั้งหมดนี้ในลักษณะที่ครอบคลุม ด้วยสรรพกำลังที่มหาศาล และสอดคล้องกับตัวตนของเรา” ซัลลิแวนกล่าว

 

ด้านพลโท เอช. อาร์. แมคมาสเตอร์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า การดำเนินการที่มีอยู่ยังรวดเร็วไม่มากพอ สหรัฐตามหลังอยู่มาก เนื่องจากการประเมินที่ผิดพลาดในช่วงหลังยุคสงครามเย็น

 

นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการสกัดกั้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน ผ่านมาตรการควบคุมในด้านการส่งออก

 

ทางด้าน นายเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน วิจารณ์ความพยายามของสหรัฐในการขัดขวางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนหลายต่อหลายครั้ง โดยชี้ว่า สิ่งที่สหรัฐกำลังพยายามทำอยู่ คือการใช้ข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยี เพื่อกีดกันและกดทับการพัฒนาของตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา สหรัฐคาดหวังที่จะให้จีนและประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ อยู่ในระดับล่างของห่วงโซ่อุตสาหกรรมตลอดไป และสิ่งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อความก้าวหน้า

 

หนึ่งในตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในงานนี้ คือการพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สาย 5G ที่ประเทศในโลกตะวันตกรวมถึงสหรัฐยังตามหลังประเทศจีนอยู่ โดยทางการจีนได้ให้การสนับสนุนมากเป็นพิเศษต่อบริษัทหัวเว่ย (Huawei) จนทำให้กลายเป็นบริษัทระดับโลกที่โดดเด่นในด้านการจัดหาอุปกรณ์เครือข่าย 5G

สหรัฐหวั่นแสนยานุภาพจีน ไล่บี้แซงหน้าด้านเทคโนโลยี  สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีของ 5G ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก เราไม่ต้องการทำงานภายใต้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ต้องใช้งานเป็นประจำทุกวัน และถูกควบคุมโดยระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นระบบปิด

 

ด้วยความกังวลว่า อุปกรณ์ที่ผลิตในจีนจะทำหน้าที่เป็นแกนหลักของเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัย และอาจก่อให้เกิดการจารกรรมข้อมูลได้ สหรัฐและประเทศพันธมิตร จึงได้ต่อต้านการติดตั้งอุปกรณ์ของบริษัทหัวเว่ย ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเปิดตัวบริการไร้สาย 5G

 

นายชมิดต์ อดีตซีอีโอของบริษัทกูเกิล แสดงความเห็นว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีของ 5G ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก เราไม่ต้องการทำงานภายใต้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ต้องใช้งานเป็นประจำทุกวัน และถูกควบคุมโดยระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นระบบปิดอีกด้วย”

 

ชมิดต์ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะก้าวนำประเทศจีนในด้านเทคโนโลยี เขาคาดว่าจีนจะเพิ่มการแข่งขันมากขึ้นในด้านปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม เทคโนโลยีชีวภาพ และด้านอื่น ๆ

 

จอน ฮันต์สแมน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศจีน และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) กล่าวว่า คนอเมริกันมักไม่ทราบว่าประเทศจีนนำหน้าสหรัฐในด้านเทคโนโลยีไปไกลเพียงใด ตัวอย่างเช่น จีนนำหน้าสหรัฐในด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วอย่างน้อย 5 ปี

 

ฮันต์สแมน เชื่อว่าทางแก้คือ สหรัฐต้องสร้างสมดุลในการไล่ตามจีนและนำหน้าตามแต่สถานการณ์ เขาเน้นว่าต้องรักษาสัมพันธภาพกับประเทศจีน โดยย้ำว่าการสร้างความแตกแยกจะทำให้เกิดความบาดหมาง ความเข้าใจผิด และความไร้เสถียรภาพด้านความมั่นคงไปทั่วโลก