อึ้งไทยขาดดุลการค้า 9เดือนกว่า6แสนล้านบาทในรอบ5ปี

27 ต.ค. 2565 | 04:09 น.

ไทย ขาดดุลการค้า9เดือนกว่า6แสนล้านบาทในรอบ5ปี สาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงและค่าบาทที่อ่อนส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น เป็นการขาดดุลในรอบ5ปีนับตั้งแต่ปี60

เห็นตัวเลขส่งออก9เดือนของไทยที่ขยายตัว10.6% หรือมีมูลค่า221,366ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้า มีมูลค่า 236,351.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว20.7%  ดุลการค้า ขาดดุล 14,984.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าคิดในรูปแบบของเงินบาทการส่งออก มีมูลค่า 7,523,817 ล้านบาท ขยายตัว 21.3% การนำเข้า มีมูลค่า 8,148,602 ล้านบาท ขยายตัว 32.3% ดุลการค้า ขาดดุล 624,785 ล้านบาท  ซึ่งจะเห็นว่า9เดือนไทยขาดดุลการค้ามาถึงกว่า6แสนล้านบาท จากราคาพลังงานพุ่ง-เงินบาทอ่อน ส่งผลให้การซื้อสินค้าเพื่อนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่5นับตั้งแต่ปี2560

อึ้งไทยขาดดุลการค้า 9เดือนกว่า6แสนล้านบาทในรอบ5ปี

อย่างไรก็ตามแม้ว่าไทยจะขาดดุลการค้า9เดือน แต่หากดูในแง่ของการส่งออกไทยเองก็ทำได้ดีโตต่อเนื่องเป็นเป็นเดือนที่19และคาดว่า3เดือนที่เหลือของปีนี้น่าจะมีมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่าเดือนละ20,500-25,000ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งจะทำให้ภาพรวมทั้งปีไทยส่งออกได้8%

สำหรับตลาดสำคัญๆของส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่องในหลายตลาดสำคัญ แต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของประเทศคู่ค้าสำคัญ

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัว 10.6% โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ  26.2%  อาเซียน (5) 9% CLMV  26.3% และสหภาพยุโรป (27)  18%   ขณะที่จีนหดตัว 13.2% และญี่ปุ่นหดตัว 1.7%

 ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 2.9% ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย  15.5%  ตะวันออกกลาง 47.5% และลาตินอเมริกา  6.3% ขณะที่เอเชียใต้ หดตัว11.5%
ทวีปแอฟริกา หดตัว11.7% และรัสเซียและกลุ่มCIS หดตัว 24.5 %ส่วน ตลาดอื่น ๆ หดตัว40.3% เช่นสวิตเซอร์แลนด์ หดตัว 4.5%

ทั้งนี้หากดูในแต่ละตลาดจะพบว่าสินค้าไทยยังสามารถส่งออกได้ดี เช่น ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว26.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 28 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 18.8%

อึ้งไทยขาดดุลการค้า 9เดือนกว่า6แสนล้านบาทในรอบ5ปี              

            ตลาดญี่ปุ่น กลับมาหดตัว 1.7% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 0.9%

            ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัว 9.0%ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 20.3%

ตลาด CLMV ขยายตัว 26.3% (ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่ม เป็นต้น ขณะที่9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว16.0%

 ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัว 18% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ
หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 8.7%

 ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 15.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 3.4 %

 ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 47.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว26.6%

 ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัว 6.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในฯ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 9.0%

ส่วนตลาดที่หดตัวจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาภายในประเทศ เช่น ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัว 24.5% เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 หดตัว 32.5%

ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัว 11.7% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในฯ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ข้าว และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 1.0%

ตลาดเอเชียใต้ หดตัว11.5 %หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 22.8%

ตลาดจีน หดตัว 13.2 %หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 หดตัว 5.9%

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ยังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย ทั้งปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่เริ่มคลี่คลาย และปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อันเกิดจากสถานการณ์เงินเฟ้อ และการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป