"ขสมก." ปรับแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ดึงเอกชนร่วมทุน PPP

30 ก.ย. 2565 | 09:01 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 16:09 น.

เริ่มใหม่ "คนร." ตีกลับ สั่งทบทวนแผนฟื้นฟูขสมก.ฉบับใหม่ ชงบอร์ดเคาะจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 224 คัน เล็งศึกษาแผนPPP ดึงเอกชนร่วมทุน บริหาร ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย-เชื้อเพลิง คาดได้ข้อสรุปสิ้นปีนี้

นายกิตติกานต์ จอมดวงจารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ว่า สำหรับแผนฟื้นฟูฯ ฉบับใหม่ ปัจจุบันขสมก.อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนฯ คาดว่าจะดำเนินการทบทวน เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ภายในเดือนตุลาคมนี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 และเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบภายในเดือนธันวาคม 2565 หลังจากนั้น จะเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ พิจารณา หากได้รับความเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการจัดสรรงบประมาณต่อไป

 

 

"ปัจจุบันขสมก.จัดทำแผนฟื้นฟูฉบับดังกล่าวในรูปแบบการใช้งบดำเนินงาน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความคิดเห็นอย่างไร เราจะดำเนินการตามนั้น ยืนยันว่าต้องการให้แผนฟื้นฟูฯ เกิดความโปร่งใสและดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดข้อร้องเรียนหรือข้อครหาภายหลังอีกด้วย" นายกิตติกานต์ กล่าว

นายกิตติกานต์ กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา คนร.มีมติให้ ขสมก.ปรับปรุงแผนฟื้นฟูฯ ให้มีความเหมาะสมกับปัจจุบัน ซึ่งแผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้จะมีความแตกต่างจากแผนฟื้นฟูฯ ฉบับเก่า โดย ขสมก.จะเพิ่มการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น พื้นที่อู่รถบางเขน อู่มีนบุรี และพื้นที่อู่รถเมล์บริเวณหมอชิต ที่ขสมก.เช่าในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาจุดเชื่อมต่อด้านการเดินทาง

 

 

 

ส่วนแผนระยะสั้นในการจ้างเหมาบริการเดินรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 224 คัน วงเงิน 953 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อประกอบความคิดเห็นตามที่สำนักงบประมาณได้ส่งหนังสือถึงขสมก. เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา เบื้องต้นสำนักงบประมาณมีความคิดเห็นให้ขสมก.ดำเนินการจัดหารถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) ตามขั้นตอนในรูปแบบการใช้งบลงทุน ให้สอดคล้องกับระเบียบของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน คาดว่าแผนการจัดหารถเมล์อีวี 224 คัน จะเริ่มให้บริการได้ในปี 2566 จากเดิมที่มีแผนนำร่องจัดหารถฯ ทั้งหมด 400 คัน

 

 

 

นายกิตติกานต์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ขสมก. มีรถที่ให้บริการ 2,885 คัน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารับสมัคร บุคคลากรให้เพียงพอต่อรถที่ให้บริการประชาชน โดยการรับสมัครบุคลากรในครั้งนี้ต้องสอดรับในการบริหารรายได้รถให้เพียงพอ เบื้องต้น ขสมก.ได้ดำเนินการปรับปรุงสภาพรถที่มีความทรุดโทรม จำนวน 323 คัน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการให้บริการรถเมล์อีวีเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบัน ขสมก.ได้จัดซื้อรถเอ็นจีวีแล้วกว่า 489 คัน หากสามารถดำเนินการได้จะช่วยให้ปัญหารถเมล์ขาดระยะลดลงต่อไป

ขณะเดียวกัน ขสมก.ยังมีแผนการจัดหารถเมล์อีวีในรูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนโดยให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้ขสมก.ประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งต้นทุน ค่าเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษา ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐ

 

 

 

ส่วนผลประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับจากการร่วมทุนในครั้งนี้ เช่น ผลตอบแทนและกำไร โดยปัจจุบัน ขสมก.อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมของแผนดังกล่าว ซึ่งจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 คาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอต่อสคร. อนุมัติการร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี โดยขสมก.คาดว่าแผนดังกล่าวจะจัดหารถได้มากกว่า 224 คัน

 

 

 

"หากสคร.เห็นชอบรูปแบบพีพีพีแล้ว ขสมก.จะต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาแผนดังกล่าวโดยใช้ระยะเวลาในการศึกษา 18 เดือน ซึ่งเป็นการให้เอกชนเข้ามา บริหารจัดการ ทั้งการจัดหารถและบุคลากร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้วย โดยปัจจุบันขสมก.มีเส้นทางเดินรถทั้ง 107 เส้นทาง หากเอกชนสนใจเส้นทางใดขึ้นอยู่กับเขาเป็นผู้พิจารณา ซึ่งจะช่วยจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน" นายกิตติกานต์ กล่าว