โครงการก่อสร้างภาครัฐมูลค่ากว่า 8 แสนล.ดันอุตสาหกรรมก่อสร้างปี 65 ฟื้น

27 ก.ย. 2565 | 08:33 น.

โครงการก่อสร้างภาครัฐมูลค่ากว่า 8 แสนล.ดันอุตสาหกรรมก่อสร้างปี 65 ฟื้น พร้อมชี้แนวทางปรับตัวภาครับเหมาเพิ่มการใช้เทคโนโลยี โซลูชันรองรับความเสี่ยง

นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เปิดเผยว่า ในปี 2565  โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐกำลังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนก่อสร้างต่าง ๆ ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการก่อสร้างเช่น ท่อ ท่อร้อยสาย ลวด ทองแดงให้มีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย 

 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน มีโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นอานิสงส์สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว เช่น โครงการนำสายไฟลงดิน โครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้า การวางระบบท่อเพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำในเขตเมือง และแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการวางโครงข่ายด้านอินเทอร์เน็ตให้มีความครอบคลุม 

 

นอกจากนี้ การเติบโตดังกล่าวยังถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 800,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัว 6.4% จนถึงปี 2567 โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ EEC โครงการขยายเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางรางและถนน รวมถึงงานซ่อมแซม - วางระบบกลุ่มสถานที่ต่าง ๆ เช่น อาคารสำนักงาน ระบบสุขาภิบาล ฯลฯ
 

โอกาสในด้านมูลค่าที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอานิสงส์สำคัญสำหรับทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย ซึ่งกลุ่มรายใหญ่จะมีโอกาสอย่างมากในกลุ่มการรับเหมาในโครงการก่อสร้างหรือการซ่อมแซมขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า ระบบคมนาคม รวมถึงโอกาสการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่ต่างมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวความเป็นเมือง 

 

รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อย มองว่าจะมีโอกาสรับเหมาช่วงจากผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงโอกาสงานซ่อมแซมและปรับปรุงอาคาร แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่มต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นคือ เพิ่มการลงทุนด้านเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงาน ระยะเวลาในการก่อสร้าง รวมถึงลดอัตราการผิดพลาดจากงานแต่ละประเภทให้น้อยลง 

 

โครงการก่อสร้างภาครัฐมูลค่ากว่า 8 แสนล.ดันอุตสาหกรรมก่อสร้างปี 65 ฟื้น

 

อย่างไรก็ดี ยังต้องเพิ่มการนำนวัตกรรมมาใช้ในการก่อสร้าง เช่น วัสดุก่อสร้างที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงาน การเพิ่มความทนทานในวัสดุบางชนิดเพื่อรองรับความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ อาทิ ลดการรั่วไหลและการเป็นสนิมของท่อประปา การรองรับภาวะการทรุดตัวของดิน เป็นต้น

 

นายอมร กล่าวอีกว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวในปีนี้และในอนาคตยังเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มงานประเภทวิศวกรรมโครงสร้าง และเทคโนโลยีด้านการประเมินความเสี่ยง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีจำลองอาคารเสมือนจริง (BIM) หุ่นยนต์ (Robotics)  ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในด้านการควบคุม - ตรวจสอบความมั่นคงงานก่อสร้างแต่ละประเภทให้มากขึ้น

เนื่องจากในปัจจุบันหลาย ๆ พื้นที่ยังคงมีการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง โดยทั้ง 2 กลุ่มยังจะช่วยรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

 

นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า นอกเหนือจากในประเทศไทยแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนก็มีโครงการลงทุนต่าง ๆ จากภาครัฐที่มากถึง 850 โครงการ โดยประเทศที่มีขนาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สุดคือ ประเทศอินโดนีเซีย และอันดับรองลงมาคือไทยและฟิลิปปินส์ 

 

โดยการลงทุนเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมด้านการก่อสร้างจำพวกเหล็ก ท่อ ท่อร้อยสาย ทองแดง ลวดในภูมิภาคนี้มีโอกาสฟื้นตัว และขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการถูกนำไปใช้จะมาจากการก่อสร้างระบบการขนส่งทางถนน 45% การก่อสร้างทางราง 20% การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน 10% และอีก 25% คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการบริหารจัดการน้ำ เช่น 

 

การก่อสร้างเขื่อน ระบบการระบายน้ำ และการพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรม เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งภาพรวมเหล่านี้ยังทำให้ในเอเชียและยุโรปยังคงสนใจที่จะใช้ไทยและอาเซียนเป็นฐานการกระจายสินค้า และฐานการผลิตด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่อีกด้วย 

 

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชียเตรียมจัด 4 กิจกรรมใหญ่ในประเทศไทย ได้แก่ 

 

1.งานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมลวด เคเบิล ครั้งที่ 14 สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Wire Southeast ASIA 2022) 

 

2.งานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมท่อและท่อร้อยสาย ครั้งที่13 สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Tube Southeast ASIA 2022) 

 

3.งานแสดงสินค้าและฟอรั่มนานาชาติด้านการหล่อโลหะเพื่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 
(GIFA Southeast Asia 2022) 

 

4.งานแสดงสินค้าและฟอรั่มนานาชาติด้านโลหะวิทยาเพื่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 (METEC Southeast Asia 2022) 

 

ซึ่งทั้ง 4 งานเป็นมหกรรมเทคโนโลยีด้านการผลิตลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย อุตสาหกรรมหล่อโลหะ และโลหะการ รวบรวมผู้แสดงสินค้ากว่า 200 ราย จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ตลาดเอเชีย - อาเซียน มาร่วมแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับกลุ่มภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ 

 

และภาคเอกชนที่กำลังดำเนินงานหรือมีแผนลงทุนเมกะโปรเจกต์ให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ ๆ จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก อาทิ เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ 

 

นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักดันให้สมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศได้มีบทบาทและแสดงศักยภาพได้มากขึ้น