สบส.จับมือสมศ.เปิดหลักสูตรปวส.ผลิตบุคลากรสายงานบำรุงรักษา“เครื่องมือแพทย์”

02 ส.ค. 2559 | 04:44 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จัดทำหลักสูตรผลิตบุคลากรสายอาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขางานอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ เพื่อดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ให้มีคุณภาพมาตรฐานพร้อมใช้งาน มั่นใจอนาคตสดใส เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง ขณะนี้หลักสูตรใกล้สมบูรณ์แบบ คาดจะเปิดสอน ปี 60 นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ และวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่

วันนี้ (2 สิงหาคม 2559) ที่โรงแรมอโมร่า ท่าแพเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นายถาวร ขาวแสง ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 1จังหวัดเชียงใหม่ เปิดประชุมประชาพิจารณ์หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาอิเล็กทรอนิกส์ สาขางานอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดการเรียนการสอนในวิทยาลัยเทคนิค สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญอาชีพ ผู้เชี่ยวชาญหลักสูตรจากสำนักมาตรฐานอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันมาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวิชาชีพ สถาบันอุดมศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา และผู้แทนจากชุมชน เพื่อร่วมกันพิจารณาเนื้อหาความเหมาะสมหลักสูตรให้สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2556

นายแพทย์ประภาส กล่าวว่า กรมสบส.ซึ่งมีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการสุขภาพให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สมศ.)พัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรสายอาชีพด้านวิศวกรรมการแพทย์ มีความรู้ความสามารถในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนกว่า 200,000ชิ้น เพื่อให้เครื่องมือมีคุณภาพมาตรฐาน ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้อย่างแม่นยำ ขณะนี้โรงพยาบาลมีความต้องการบุคลากรสายงานบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์มาก เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการผลิตบุคลากรสายอาชีพโดยเฉพาะมาก่อน มีผลิตเฉพาะสายวิชาการระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์หรือวิศวกรรมชีวเวช ซึ่งทั่วประเทศมีสถาบันผลิตไม่ถึง 10 แห่ง ผลิตได้ปีละไม่เกิน 150 คน จึงนับว่าเป็นหลักสูตรแรกในประเทศเพื่อผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานคือโรงพยาบาลต่างๆทั้งรัฐและเอกชนที่มีประมาณ 1,200 แห่งทั่วประเทศและแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่หลักสูตรฯผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอาชีวศึกษา เพื่อให้การรับรอง และจะเปิดการเรียนการสอน 2 แห่ง คือ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่และวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ คาดว่าจะเริ่มในปี 2560

ด้านนายถาวร ขาวแสง ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เครื่องมือแพทย์ที่ใช้งานขณะนี้ส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นด้านอิเล็กทรอนิกส์และใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เปลี่ยนแปลงก้าวหน้ารวดเร็วมาก จึงต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะเฉพาะด้านดูแลรักษา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขางานอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์นี้   ได้กำหนดเป็นหมวดวิชาทักษะวิชาชีพ ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ มีทั้งหมด 21 หน่วยกิต โดยเรียนรู้ภาคทฤษฎีทั้งด้านสรีระร่างกายมนุษย์ และกลไกการทำงานของเครื่องมือแพทย์แต่ละชนิด เช่นเครื่องมือการรักษา เครื่องมือตรวจวินิจฉัยอาการเจ็บป่วย เครื่องมือเฝ้าระวัง เครื่องมือกายภาพบำบัด เครื่องมือช่วยชีวิต รวมทั้งเครื่องมือการสื่อสารทางการแพทย์เป็นต้น ส่วนภาคปฏิบัติ จะฝึกทักษะที่หน่วยงานในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน รวมทั้งที่ศูนย์วิศวกรรมเครื่องมือแพทย์ ของสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย โดยมีบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขร่วมเป็นครูฝึกประสบการณ์ในการทำงาน เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาของประเทศ และพัฒนาระบบมาตรฐานบริการการแพทย์ของประเทศไทยด้วย