โรบินฮู้ด รับไม้ต่อดูแลลูกค้า-ไรด์เดอร์ ฟู้ดแพนด้า หลังประกาศยุติบริการ

20 พ.ค. 2568 | 11:16 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2568 | 13:10 น.

โรบินฮู้ด แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ประกาศรับไม้ต่อดูแลระบบนิเวศทั้งหมดของฟู้ดแพนด้า หลังประกาศยุติบริการในไทย 23 พ.ค. นี้ พร้อมยกระดับบริการรองรับลูกค้าต่างชาติและขยายพื้นที่สู่หัวเมืองหลัก ภายใต้แนวคิด Good Business Ecosystem

20 พ.ค. 2568 - โรบินฮู้ด (Robinhood) แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือกลุ่มยิบอินซอย ประกาศข้อตกลงเชิงกลยุทธ์กับฟู้ดแพนด้า (foodpanda) บริษัทในเครือ Delivery Hero จากเยอรมนี เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านลูกค้า ร้านอาหาร และไรเดอร์หลังฟู้ดแพนด้าเตรียมยุติบริการในไทยวันที่ 23 พฤษภาคม 2568

นางมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านของระบบนิเวศฟู้ดแพนด้าทั้งหมดสู่โรบินฮู้ดเป็นไปอย่างราบรื่นและครอบคลุม

เตรียมพร้อมรองรับลูกค้าต่างชาติและขยายพื้นที่บริการ

เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน โรบินฮู้ดได้พัฒนาแอปพลิเคชันให้รองรับการใช้งานภาษาอังกฤษ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวต่างชาติที่เคยใช้บริการฟู้ดแพนด้า ปัจจุบันโรบินฮู้ดให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมเดินหน้าขยายสู่หัวเมืองหลักภายในสิ้นไตรมาสที่ 4 ของปี 2568

โรบินฮู้ดก่อตั้งขึ้นครั้งแรกโดย SCBX ด้วยจุดมุ่งหมายช่วยเหลือชุมชนในช่วงโควิด-19 ก่อนส่งต่อมายังกลุ่มบริษัทยิบอินซอย ที่ยังคงพัฒนาต่อเนื่องโดยเน้นผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมระยะยาวผ่านนวัตกรรมดิจิทัล

นางมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานการบริการสู่สากล

"ข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทย ที่สะท้อนว่าแบรนด์ระดับสากลและแพลตฟอร์มท้องถิ่นสามารถร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและความต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นางมรกตกล่าว "เราพร้อมต้อนรับลูกค้าและพันธมิตรของฟู้ดแพนด้าทุกท่าน และจะดำเนินการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น โดยเน้นหลักความเป็นธรรม คุณภาพการบริการ และความใส่ใจ"

โรบินฮู้ดยังคงยึดมั่นในจุดเด่นของการให้บริการที่ไม่มีการพ่วงออเดอร์ เพื่อให้อาหารถูกส่งถึงลูกค้าอย่างสดใหม่ พร้อมให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและค่าตอบแทนที่เป็นธรรมต่อไรเดอร์ ด้วยเงื่อนไขการทำงานที่โปร่งใสและการสนับสนุนระยะยาว

มุ่งสู่การสร้าง Good Business Ecosystem

สำหรับอนาคต โรบินฮู้ดยังคงมุ่งพัฒนาโมเดลธุรกิจ เทคโนโลยี และบริการต่างๆ โดยยึดหลักการดูแลทุกพันธมิตรในระบบนิเวศอย่างจริงใจ (Human-centric) ไม่เพียงแค่เป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่ยังมุ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชน

แนวคิด Good Business Ecosystem ของโรบินฮู้ดเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนที่ส่งผลดีต่อทุกฝ่ายในระบบนิเวศการสั่งและส่งอาหารออนไลน์ ทั้งลูกค้า ร้านอาหาร และไรเดอร์ ซึ่งจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ตลอดกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากฟู้ดแพนด้า และร่วมเติบโตไปด้วยกันในระยะยาวภายใต้แพลตฟอร์มโรบินฮู้ด

ภายใต้การบริหารของยิบอินซอย โรบินฮู้ดได้ปรับโมเดลธุรกิจสู่การเป็นธุรกิจเต็มตัว มีการเก็บค่า GP ในอัตรา 28% ซึ่งแม้จะทำให้ร้านค้าบางส่วนไม่พอใจ แต่ก็ยังน้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่นในตลาด

"เป้าหมายสำคัญคือการทำให้ Robinhood อยู่ได้และไม่ขาดทุน โดยเราตั้งใจจะเห็นผลประกอบการเป็นบวกเล็กๆ น้อยๆ หรือมีกำไรได้ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2568" นางมรกตกล่าว พร้อมย้ำว่า "ยิบอินซอยจะไม่ใช้โมเดล 'Burning' หรือการทุ่มเงินจัดโปรโมชันจำนวนมากเพื่อสร้างฐานลูกค้า แต่จะเน้นการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปและแข็งแรง"

แพลตฟอร์ม "เกื้อกูล" ที่เน้นความเป็นไทย

โรบินฮู้ดถูกวางตำแหน่งให้เป็นแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ "Living Lifestyle" ของคนไทย โดยเน้นความเป็นท้องถิ่นและเอกลักษณ์ความเป็นไทย

"ปรัชญาหลักในการดำเนินธุรกิจคือการ 'เกื้อกูล' หรืออยู่ร่วมกันแบบพึ่งพา เราต้องการสร้าง Ecosystem ที่เป็น 'Fair Game' ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์" นางมรกตอธิบาย

ในส่วนของไรเดอร์ บริษัทเน้นการดูแลอย่างดี โดยให้วิ่งงานทีละ 1 ออเดอร์ เพื่อไม่เร่งเร้าชีวิต และให้ค่าตอบแทนต่อรอบที่แข่งขันได้ รวมถึงสนับสนุนให้ไรเดอร์สามารถวิ่งงานกับแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย

แผนอนาคตและการขยายบริการ

นอกจากฟู้ดเดลิเวอรี่ บริษัทมีแผนขยายบริการไปยังด้านอื่น เช่น บริการรถแท็กซี่ที่หลายคนเรียกร้องให้กลับมา รวมถึงมีแผนเจาะลึกพื้นที่เฉพาะหรือ "ย่าน" เพื่อนำเสนอเรื่องราวของร้านค้าท้องถิ่น

ฟีเจอร์เด่นที่มีเฉพาะใน Robinhood คือ "เชิญถวายเพล" ซึ่งให้ผู้ใช้สั่งอาหารเพื่อไปถวายพระหรือมอบให้สถานสงเคราะห์ต่างๆ ได้ โดยกำลังพัฒนาให้สามารถถ่ายรูปยืนยันการส่งกลับมาให้ลูกค้าได้ด้วย

"การที่ลูกค้าหันมาใช้และสั่งอาหารผ่าน Robinhood จะช่วยให้ธุรกิจนี้อยู่รอด เติบโต และช่วยเหลือผู้คนใน Ecosystem ได้อย่างแท้จริง เราไม่ได้ทำเพียงเพื่อแสวงหากำไร แต่คือการต่อยอดและพัฒนาแอปพลิเคชันของคนไทยให้แข็งแรงและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน" นางมรกตกล่าวทิ้งท้าย