เอกชนจี้รัฐ เร่งขยายสนามบินตรัง รับท่องเที่ยวบูม

30 ต.ค. 2566 | 08:39 น.

สมาคมฯและผู้ประกอบการท่องเที่ยวตรัง ขอรัฐเร่งขยายสนามบินตรังเสร็จโดยเร็วเพื่อรองรับท่องเที่ยว รักษาการ ผอ.ท่าอากาศยานตรังเผย อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่เปิดใช้ มิ.ย.67 รองรับผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศ

นางจงกลนี  อุตสาหะ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมตรัง เปิดเผยว่า  ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอยากจะให้มีการสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ สร้างทางวิ่งหรือรันเวย์อากาศยานให้แล้วเสร็จและเปิดใช้สนามบินตรังโดยเร็ว   เพราะว่าท่าอากาศยานตรังมีความสำคัญต่อการเดินทางทางอากาศของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัด ตรัง   พัทลุง   และสตูล    ดังนั้นเพื่อให้การเดินทางทางอากาศมีความสะดวกปลอดภัยรวดเร็ว  จึงอยากให้การก่อสร้างท่าอากาศยานตรังเสร็จสมบูรณ์เต็มรูปแบบเปิดเป็นสนามบินนานาชาติโดยเร็ว

นางจงกลนี  อุตสาหะ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมตรัง

โดยที่ผ่านมาและในปัจจุบันนี้ เครื่องบินไม่สามารถบินลงท่าอากาศยานตรังได้ตามตารางบิน เมื่อสภาพอากาศ ฝนตกหนักลมแรง มีเมฆหมอกหนา นักบินจะนำเครื่องบินไปจอดรอสภาพอากาศที่สนามบิน นานาชาติหาดใหญ่ และสนามบินนานาชาติกระบี่บ่อยครั้ง  หรือบางครั้งนักบินนำเครื่องบินกลับสนามบินดอนเมือง ทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน เสียเวลาล่าช้าบางเที่ยวบินเสียเวลา 6-8 ชั่วโมง เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยมาก ดังนั้นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวอยากจะให้การก่อสร้างท่าอากาศยานตรังเสร็จและเปิดใช้โดยเร็ว

นางจงกลนี กล่าวอีกว่า กรณีที่มีผู้ประกอบการ ไทย-จีน จะนำเครื่องบินเช่าเหมาลำจากเมืองต่าง ๆ ของจีนบินพานักท่องเที่ยวมาตรังนั้น ตนเองในฐานะนายกสมาคมฯยินดีที่จะให้ความร่วมมือให้ทัวร์จีนเหล่านี้มาท่องเที่ยวในจังหวัดตรัง เพราะกรุ๊ปทัวร์จีนบางกลุ่มยอมรับสภาพการท่องเที่ยวของตรังได้ ที่เน้นการท่องเที่ยวความสวยงามเป็นธรรมชาติ อาหารการกินแบบฉบับคนตรัง และท่องเที่ยวไม่ต้องเป็นกรุ๊ปขนาดใหญ่จนเกินไปก็สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจีนได้

เอกชนจี้รัฐ ขยายสนามบินตรัง รับท่องเที่ยวบูม

 ขณะนี้ตนเองและสมาคมฯอยากจะผลักดันพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมที่เป็นพื้นที่บริการการท่องเที่ยว จัดเป็นรูปแบบพื้นที่พิเศษเพื่อรองรับการลงทุนสร้าง โรงแรม รีสอร์ท สถานที่บริการการท่องเที่ยว  เรื่องนี้ทางสมาคมฯกำลังเตรียมแผนที่จะเขียนโครงการเพื่อเสนอกับทางนายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลออกกฎหมายหรือระเบียบเพื่อจะให้เอกชนเช่าหรือใช้พื้นที่อุทยานฯที่เปิดบริการเพื่อการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เช่นหาดปากเมง ที่ประชาชนครอบครองและทำประโยชน์อยู่เดิมแล้ว

ทางสมาคมฯเตรียมหารือกับมหาวิทยาลัยฯเพื่อให้เขียนแผนพัฒนาในเรื่องนี้ หากไม่มีโรงแรมระดับพรีเมี่ยม หรือระดับ 5 ดาว การท่องเที่ยวตรังจะไม่เติบโต อุทยานฯต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาทำธุรกิจได้ โดยรักษาธรรมชาติควบคู่กับการท่องเที่ยวได้
 

นางจุฑารัตน์  เพ็ชรลุ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารที่พักโดยสารหลังใหม่แล้วเสร็จ 96% ทางผู้รับจ้างมีแผนที่จะส่งมอบงานได้สิ้นเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นตามแผนอีก 4-5 เดือนจะมีการตรวจสอบงานทั้งหมว่า มีความพร้อมที่จะเข้าไปใช้งานและปฏิบัติหน้าที่ให้บริการผู้โดยสารได้หรือไม่ ยังมีขั้นตอนที่จะให้สายการบินต่าง ๆ เข้าไปในพื้นที่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์การสื่อสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อน

นางจุฑารัตน์  เพ็ชรลุ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง  นอกจากนั้นมีอุปกรณ์การสื่อสารภายในอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ซึ่งขั้นตอนนี้ สำนักงานการบินพลเรือนจะเข้ามาตรวจสอบดูแลความพร้อมในทุกขั้นตอน   ถ้าหากผู้รับจ้างสามารถส่งมอบงานตามแผนสิ้นเดือนมกราคม 2567 คาดว่าเดือนมิถุนายน 2567 สามารถใช้อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ได้

ในเบื้องต้นมี สะพานเชื่อมเครื่องบินจำนวน 2 ตัว ใช้รับส่งผู้โดยสารในประเทศ 1 ตัว และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1 ตัว  ท่าอากาศยานตรังก็เตรียมความพร้อมที่จะให้เปิดรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งขณะนี้เตรียมความพร้อม เรื่องของ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ด่านกักกันพืชโรคและสัตว์ และด่านตรวจสุขภาพคน  

อาคารที่พักผู้โดยสารรองรับได้ 1,200คนต่อชั่วโมง ผู้โดยสารขาเข้า 600คน ผู้โดยสารขาออก 600คน มีห้องน้ำ 10โซล จำนวน 251ห้อง ท่าอากาศยานตรังมีลานจอดรถยนต์จำนวน 1,100คัน มีกล้องวงจรปิดหรือ CCTVจำนวน 220ตัว เป็นอาคารที่พักผู้โดยสารที่รองรับเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศที่มีความทันสมัยอีกท่าอากาศยานหนึ่ง”

ท่าอากาศยานตรัง

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างขยายทางวิ่งหรือรันเวย์ ทางขับ อากาศยานท่าอากาศยานตรังนั้น  จะมีการก่อสร้างรันเวย์ ยาว 2,990.เมตร กว้าง 45.เมตร ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปได้  30% ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงรถไฟใต้ทางวิ่งหรือรันเวย์เครื่องบินมีความคืบหน้าไปมาก ตามสัญญางานการก่อสร้างขยายทางวิ่งหรือรันเวย์ จะแล้วเสร็จ 5 มกราคม 2568

 หากการก่อสร้างทางวิ่งแล้วเสร็จ  ท่าอากาศยานตรังก็จะเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่มีศักยภาพสามารถรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีความพร้อมให้บริการแก่สายการบินต่างๆที่มาทำการบิน เพื่อให้บริการการเดินทางทางอากาศและรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียงที่มาใช้ท่าอากาศยานตรัง เช่น พัทลุงและสตูล