"ค่าไฟแพง-ราคาน้ำมัน" ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงในรอบ 4 เดือน

16 พ.ค. 2566 | 07:26 น.

"ค่าไฟแพง-ราคาน้ำมัน" ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงในรอบ 4 เดือน ด้านดอกเบี้ยเงินกู้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น วอนรัฐจัดสรรงบเป็นส่วนลดค่าไฟ

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย.2566 ว่า อยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 97.8 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน 

เนื่องจากมีปัจจัยลบจากการชะลอตัวของภาคการผลิต ที่เดือนเม.ย.มีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับอุปสงค์ต่างประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น 

ซึ่งมองไประยะต่อไปคาดการณ์ดัชนีฯ 3 ค่าไฟแพง-ราคาน้ำมัน ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงในรอบ 4 เดือน เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.0 ลดลงจากเดือนก่อนคาดอยู่ที่ระดับ 106.3 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลลบต่อภาคการส่งออกของไทย สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า

 

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจากอัตราค่าระวางเรือที่ทยอยปรับลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 การขยายตัวการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้ส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) และอเมริกาใต้ 

รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า เช่น จัดสรรงบประมาณเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบและลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม