"SENA"ผุดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ตอบโจทย์พลังงานสะอาด ลดค่าไฟ

16 พ.ค. 2566 | 06:01 น.

"SENA"ผุดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ตอบโจทย์พลังงานสะอาด ลดค่าไฟ นำร่องไตรมาส 3 ปีนี้ ระบุนำองค์ความรู้มาจากพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป มาปรับใช้

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)หรือ SENA เปิดเผยว่า เสนาเตรียมนำเสนอบ้านพลังงานเป็นศูนย์ หรือ Zero Energy House (ZEH) ซึ่งได้นำองค์ความรู้มาจากพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป มาปรับใช้

ทั้งนี้ จะเริ่มจากวิธีคิดว่าจะออกแบบอย่างไรให้บ้านใช้ไฟลดลง ทำอย่างไรให้ภายในบ้านมีประสิทธิภาพการใช้ไฟดีขึ้น โดยเลือกวัสดุที่เหมาะสมและใช้ผลิตภัณฑ์จากพลังงานสะอาดที่ลดการพึ่งพิงไฟรัฐให้น้อยที่สุด เพื่อรองรับกลไกตลาดในปัจจุบันและอนาคตที่ผู้บริโภคจะเลือกที่อยู่อาศัยรับกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง ทั้งทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือที่พักอาศัยที่มีกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กอยู่ในบ้านตลอดเวลา ซึ่งจะเริ่มใช้กับโครงการบ้านเดี่ยวย่านรามอินทรา กม.9 และบางนา-กม.29 โดยคาดว่าจะเปิดตัวต้นไตรมาส 3 ปีนี้

"สิ่งที่จะทำต่อไปไม่ใช่แค่ติดโซลาร์ฯ อย่างเดียว แต่มีเป้าหมายการประหยัดพลังงานที่บ้านทั้งหลังโดยใช้องค์ความรู้มาสู่แนวคิด ZEH"

อย่างไรก็ดี เสนายังได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยพัฒนาแนวทางการลดพลังงานภายในที่อยู่อาศัย ให้เป็นตาม  แนวทาง ZEH โดยแบ่งผู้ที่ใช้ไฟฟ้าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  • กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าสูง โดยบ้านพลังงานเป็นศูนย์ที่ติดโซลาร์ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 55% เมื่อเทียบบ้านทั่วไป 
  • กลุ่มที่ใช้ไฟปานกลาง บ้านพลังงานเป็นศูนย์ที่ติดโซลาร์ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 70%
  • กลุ่มที่ใช้ไฟน้อย บ้านพลังงานเป็นศูนย์ที่ติดโซลาร์ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 90%  

  SENA ผุดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ตอบโจทย์พลังงานสะอาด ลดค่าไฟ
สำหรับบ้านพลังงานเป็นศูนย์ จะมีระดับ (Step) การคิดว่าลดพลังงานได้กี่เปอร์เซ็นต์ โดยเวลาทำในจุดที่ไม่เพิ่มราคาบ้าน ยอมรับว่าการใส่เรื่องดังกล่าวเข้ามาโดยไม่มีภาครัฐเข้ามาช่วย จึงต้องทำให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งผู้บริโภคต้องซื้อบ้านโดยที่ไม่รู้สึกว่าแพงเกินไป

แต่รู้สึกว่าได้มูลค่าเพิ่มและเอกชนต้องได้และเป็นเรื่องที่ดีกับโลก การที่ใช้ไฟลดลงโดยเฉพาะการใช้ไฟที่มาจากการซื้อจากรัฐ ซึ่งไฟที่ซื้อจากการไฟฟ้าไม่ใช่พลังงานสะอาด 100% เป็นไฟที่มาจากฟอสซิล หากลดปริมาณการใช้ไฟจากรัฐและใช้พลังงานสะอาดเข้ามาเสริมก็ถือว่าช่วยโลกมากขึ้น

ผศ.ดร.เกษรา กล่าวต่อไปว่า ปี 66 การติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือ โซลาร์รูฟท็อป กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้ง และมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ประกอบกับอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 อยู่ประมาณ 4.70 บาทต่อหน่วย 

ซึ่งถือว่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ทำให้ค่าไฟเป็นภาระรายจ่ายที่ประชาชนต้องแบกรับสูง ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปเข้าถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟฯ ได้มากขึ้น จากอดีตที่จับต้องยากเพราะมีราคาแพง

“แม้ว่าผู้ใช้ไฟจะอยู่ในกลุ่มภาคครัวเรือนแต่ก็มีความแตกต่างกัน ยิ่งบ้านที่มีขนาดใหญ่ มีอุปกรณ์การใช้ไฟมากก็จะต้องจ่ายมากตามขั้นบันได ทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟฯ ซึ่งในอดีตแพงมาก จนถอดใจแต่ทุกวันนี้ต้นทุนการผลิตลดลงทำให้ตลาดโซลาร์รูฟเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง และการติดตั้งใช้เวลา 7-10 ปีก็คุ้มทุน"

ส่วนระยะเวลาการรับประกันก็ยาวนานมากถึง 25 ปี นอกจากนี้ภาครัฐยังมีโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรับซื้อไฟจากบ้านที่ติดโซลาร์รูฟท็อปแล้วเหลือใช้ขายคืนสู่ระบบในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย

ผศ.ดร.เกษรา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้รับความสนใจจากทั้งภาคครัวเรือน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะส่วนของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ ต่างหันมาพัฒนาบ้านที่ติดโซลาร์ฯ ให้กับผู้บริโภค 

"ปัจจุบันเสนาติดโซลาร์ให้กับบ้านทุกหลังและพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียมรวมติดตั้งทั้งสิ้น 47 โครงการกว่า 1,000 ครัวเรือน คิดเป็นการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 100 เมกะวัตต์"