เอ็มดีใหม่ทอท.“กีรติ กิจมานะวัฒน์" ลุยขยาย 4 สนามบิน ลงทุน 7.4 หมื่นล้าน

24 เม.ย. 2566 | 05:40 น.

เอ็มดีทอท.คนใหม่ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” กางนโยบายเร่งด่วนแก้ 3 จุดคอขวดลดสนามบินแออัด ลุยลงทุน 7.4 หมื่นล้านบาท ขยาย 4 สนามบิน เร่งสร้างอาคารผู้โดยสารฝั่งอีสต์-เวสต์ สนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึง เฟส 1 สนามบินเชียงใหม่ เฟส 2 สนามบินภูเก็ต

การรับตำแหน่งของ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.คนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่ง ในวันที่ 24 เมษายน 2566 ภายใน 4 ปีนี้ เรื่องเร่งด่วนที่จะเข้ามาดำเนินการก่อนคือการแก้ปัญหา 3 จุดคอขวดในสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

ควบคู่ไปกับการเดินหน้าขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารของ 4 สนามบินหลัก มูลค่าการลงทุนร่วม 7.4 หมื่นล้านบาท ที่จะเห็นในยุคที่เขานั่งบริหาร รวมถึงมุ่งยกระดับอันดับการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิในเวทีโลกให้ฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง รวมถึงการผลักดันให้ทอท.กลับมามีกำไร

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือทอท.คนใหม่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่านโยบายเร่งด่วนที่เป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนทอท.ให้เป็นผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานที่ดี โดยเฉพาะตอนนี้ที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด คือ ต้องเน้นการให้บริการผู้โดยสารที่มีมาตรฐานระดับสากล

  • เร่งแก้ 3 จุดคอขวดลดสนามบินแออัด

โดยปัจจุบันต้องยอมรับว่าด้วยขนาดของพื้นที่ของสนามบินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการเช็คอิน กระบวนการตรวจค้น และการตรวจคนเข้าเมือง ที่เป็น 3 กระบวนการหลักที่เกิดขึ้นภายในอาคารผู้โดยสาร ทำให้สนามบินที่แออัด โดยเฉพาะในชั่วโมงที่มีการเดินทางคับคั่ง

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ประกอบกับทอท.ยังคาดว่าภายใต้ต้นปี2567 ผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ จะกลับเข้ามาเหมือนปกติก่อนช่วงโควิด เพราะในขณะนี้ผู้โดยสารในประเทศฟื้นตัวกลับมา 100% แล้ว ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ระดับ 75% ซึ่งเป็นเพราะสายการบินยังไม่ได้กลับมาบินได้เต็มศักยภาพเหมือนเดิม

เอ็มดีใหม่ทอท.“กีรติ กิจมานะวัฒน์" ลุยขยาย 4 สนามบิน ลงทุน 7.4 หมื่นล้าน

แต่คาดว่าจะมากันเต็มที่ในช่วงปลายปีนี้ ก็จะกลับมาเห็นว่าสนามบินจะกลับมามีสภาพแออัดเหมือนเมื่อปี 2562 ซึ่งก่อนเกิดโควิดสนามบินสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารใช้บริการ 65 ล้านคนต่อปี และสนามบินดอนเมือง มีผู้โดยสารใช้บริการ 35-40 ล้านคนต่อปี

ดังนั้นสิ่งที่ผมจะให้ความสำคัญเร่งด่วน คือ การทำให้แฟกซิลิตี้ของสนามบินที่เรามีอยู่ในปัจจุบันรองรับการเดินทางของผู้โดยสารได้มากที่สุด ที่ต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 กระบวนการหลักนี้ให้ได้ โดยหลังโควิดจะเห็นว่าสายการบินลดพนักงานลงไป ทำให้การให้บริการภาคพื้นมีเจ้าหน้าที่น้อยลง จากที่ปกติ 1 เที่ยวบินสายการบินจะเปิดเคาท์เตอร์เช็คอิน 6-8 เคาท์เตอร์ ตอนนี้ลดลงเหลือ 3-4 เคาท์เตอร์ 

ทำให้ทอท.ก็ได้นำเทคโนโลยี Self Check-in และ Self-Service Bag Drop มาช่วยสายการบินให้ผู้โดยสารเช็คอินด้วยตัวเอง โดยทอท.มีการติดตั้งราว 200 จุดทั่วสนามบินสุวรรณภูมิ และพยายามโปรโมทให้สายการบินมาใช้ระบบนี้ เพราะทอท.ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ผู้โดยสารและสายการบินก็ได้ประโยชน์

รวมถึงทอท.ก็มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่และเพิ่มจุดตรวจค้นผู้โดยสารให้มากขึ้น ส่วนการตรวจคนเข้าเมือง ก็มีการประสานให้ตม.ช่วยจัดเจ้าหน้าที่มาให้บริการ โดยมีการจัดเรื่องของโอทีให้กับเจ้าหน้าที่ตม. และในระยะยาวทอท.ก็มองที่จะนำระบบ AUTO GATE มาใช้ ที่มีการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมที่จะติดตั้งอีก 16 เกท เพื่อให้ผู้เดินทางต่างชาติสามารถใช้บริการได้เหมือนคนไทย

ตอนนี้อยู่ระหว่างหารือกับทางตม.ที่อยากจะนำมาใช้สำหรับผู้โดยสารขาออก ว่าจะใช้ได้กับนักท่องเที่ยวจาก 90 ประเทศได้หรือไม่ โดยแผนระยะสั้นนี้จะต้องอยู่ต่อไปจนกว่าทอท.จะเดินหน้าขยายอาคารผู้โดยสารต่างๆ ในสนามบินหลักแล้วเสร็จ

เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง SAT 1 ก.ย.นี้

สำหรับแผนระยะกลาง ทอท.เตรียมจะเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) สนามบินสุวรรณภูมิ เพิ่มพื้นที่อีก 2 แสนตรม.ในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ในส่วนที่เป็นโถงพักคอยผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องเพิ่มขึ้นอีก

เอ็มดีใหม่ทอท.“กีรติ กิจมานะวัฒน์" ลุยขยาย 4 สนามบิน ลงทุน 7.4 หมื่นล้าน เอ็มดีใหม่ทอท.“กีรติ กิจมานะวัฒน์" ลุยขยาย 4 สนามบิน ลงทุน 7.4 หมื่นล้าน

เดินหน้าขยาย 4 สนามบินหลัก

ขณะที่แผนกึ่งระยะกลางและยาว คือ จะต้องผลักดันการขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารในสนามบินหลักต่างๆ โดยในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ จะเป็นการเร่งรัดลงทุนส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก (East Expansion) ที่อยู่ระหว่างการทบทวนแบบให้สอดรับกับความต้องการของผู้โดยสารยุคใหม่และสอดคล้องกับมาตรฐานการบินในปัจจุบัน

เอ็มดีใหม่ทอท.“กีรติ กิจมานะวัฒน์" ลุยขยาย 4 สนามบิน ลงทุน 7.4 หมื่นล้าน

เนื่องจากแบบเดิมทำมา 8-9 ปีแล้ว โดยที่ปรึกษาจะใช้เวลาในการปรับแบบ 6 เดือน น่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ในต้นปี2567 ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี ก็จะทำให้มีพื้นที่เพิ่มอีก 6 หมื่นตรม. การลงทุนเพิ่มจาก 7 พันล้านบาทเป็น 9 พันล้านบาท ซึ่งทอท.มีงบลงทุนนี้อยู่แล้ว เพราะอยู่ในงบเฟส 2 ของโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ

ถัดจากนั้นก็จะลงทุนส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันตก (West Expansion ) สนามบินสุวรรณภูมิ คาดลงทุน 9 พันล้านบาท เพราะพื้นที่ใกล้เคียงกันอีสต์ เทอร์มินัล ซึ่งก็จะต้องมีการออกแบบให้แล้วเสร็จก่อน แล้วจึงจะนำเสนอครม. ซึ่งการลงทุนส่วนต่อขยายด้านตะวันออกและตะวันตกนี้ เป็นส่วนที่สภาพัฒน์ก็ผลักดันมาโดยตลอด

ผมก็มองว่าการเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารไม่ว่าจะอยู่ส่วนใหญ่ถ้าทำได้ก็ทำก่อน เราปล่อยให้สนามบินสุวรรณภูมิตกอันดับมามากแล้ว และถ้าเราไม่เร่งขยายพื้นที่เพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้เพิ่มขึ้น คุณภาพในการให้บริการเราก็จะตกไปเรื่อยๆ

ดังนั้นเมื่อทุกหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานอนุมัติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันให้เราขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารฝั่งอีสต์และเวสต์ได้ ผมก็จะเร่งผลักดันก่อนให้แล้วเสร็จในช่วงที่ผมอยู่ในตำแหน่ง หลังจากเริ่มลงทุนใน 2 ส่วนนี้ไปแล้ว เราก็จะค่อยมาดูเปรียบเทียบหมัดต่อมัดเลยว่าระหว่างการสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศเหนือ (North Expansion) กับส่วนต่อขยายด้านทิศใต้ (South Expansion) ของสนามบินสุวรรณภูมิ การลงทุนในส่วนไหนจะเป็นเหตุเป็นผล

“ตอนนี้ผมยังไม่ได้ปิดประตูเรื่องการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าต้องมาดูด้วยว่า สนามบินสุรรณภูมิที่เรามี 4 รันเวย์ รับผู้โดยสารได้มากสุดที่ 120 ล้านคน ซึ่งพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลักในปัจจุบัน รวมกับการขยายอาคารด้านทิศตะวันออกและตะวันตก จะรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนแล้ว

การจะเพิ่มอีก 30 ล้านคน ไปสร้างด้านทิศเหนือ ลงทุนที่ 4 หมื่นล้านบาท เปรียบเทียบกับทิศใต้ลงทุน 1.2 แสนล้านบาท แล้วจะลงทุนอะไร คงต้องมาดูเหตุและผลระยะยาวว่าเป็นอย่างไร ตรงนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ยังมีการหารือกันได้ และเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาแผนแม่บทให้ชัดเจน”

เอ็มดีใหม่ทอท.“กีรติ กิจมานะวัฒน์" ลุยขยาย 4 สนามบิน ลงทุน 7.4 หมื่นล้าน

นายกีรติ ยังกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังจะเดินหน้าขยายสร้างสนามบินดอนเมือง งบลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท ที่ตอนนี้จ้างที่ปรึกษาออกแบบ คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จประมาณต้นปี 67 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ

เพิ่มพื้นที่การให้บริการของสนามบินดอนเมืองจาก 1.2 แสนตรม.เป็น 2.4 แสนตรม. สร้างอาคารที่จอดรถ และจังชั่น เทอร์มินัล (พื้นที่เชิงพาณิชย์) เป็นตัวเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง ดึงผู้โดยสารมาใช้บริการเชิงพาณิชย์

จากนั้นเมื่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เสร็จก็จะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ เนื่องจากสนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารใช้บริการในประเทศมาก ซึ่งหลังขยายสนามบินดอนเมืองแล้วเสร็จรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 50 ล้านคนต่อปี เป็นผู้โดยสารในประเทศราว 30 ล้านคนต่อปีและผู้โดยสารในประเทศ 20 ล้านคนต่อปี

ในส่วนของการขยายสนามบินในต่างจังหวัด ที่ต้องดำเนินการก่อน คือ การขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ  สนามบินภูเก็ต รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 6 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะจ้างที่ปรึกษาออกแบบได้ในกลางปีนี้ การลงทุนน่าจะอยู่ที่ 6 พันล้านบาท (ไม่รวม VAT)

การขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินเชียงใหม่ที่จะทำเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 4 ล้านคน แล้วปรับปรุงอาคารหลังเดิมให้เป็นอาคารโดเมสติก ลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท (ไม่รวม VAT)

สำหรับการแผนการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่พังงา ทอท.ต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่เรื่องการรับโอน 3 สนามบิน (อุดรธานี กระบี่ บุรีรัมย์) ของกรมท่าอากาศยานหรือทย. เพราะต้องขอความเห็นชอบจากครม.อีกครั้ง หลังจาก 3 สนามบินไปดำเนินการขอใบอนุญาตการให้บริการสนามบิน

เพราะถ้าทอท.บริหารสนามบินกระบี่ ก็ต้องมาทบทวนว่าจะก่อสร้างสนามบินพังงา หรือไม่ หรือ ขนาดที่สร้างก็อาจจะลดลงไม่ได้สร้างใหญ่เหมือนแผนเดิมที่จะสร้างสนามบินใหม่ทั้งหมด