ค่าเหยียบแผ่นดินวุ่น "พิพัฒน์" เลื่อนวันจัดเก็บ-ปรับวิธีการใหม่

12 เม.ย. 2566 | 23:30 น.

ค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาทวุ่น “พิพัฒน์” รับต้องเลื่อนการจัดเก็บไปเป็นวันที่ 1 ก.ย.นี้ ทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บใหม่ ให้เก็บผู้โดยสารทุกคนที่จองตั๋วเข้าไทยมาตั้งแต่ต้นทาง แล้วทำ VAT Refund คืนหลังสายการบินแจงไม่สามารถแยกการจัดเก็บได้ ทั้งวิตกผิดกม.PDPA

ค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาทวุ่น “พิพัฒน์” รับต้องเลื่อนการจัดเก็บจากวันที่ 1 มิถุนายนนี้ออกไปเป็นวันที่ 1 กันยายนนี้ ทั้งเตรียมปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บใหม่ โดยให้เก็บนักท่องเที่ยวทุกคนที่จองตั๋วเข้าไทยมาตั้งแต่ต้นทาง แล้วทำ VAT Refund คืนทีหลัง หลังบอร์ดออฟแอร์ไลน์ ซึ่งมีสมาชิก 51 สายการบิน รวมถึงไออาต้า แจงในทางปฏิบัติไม่สามารถแยกการจัดเก็บได้ ทั้งวิตกผิดกม.PDPA

การจัดเก็บ“ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ล่าสุดต้องเลื่อนการจัดเก็บไปเป็นวันที่ 1 ก.ย.นี้ ทั้งการจะจัดเก็บค่าธรรมเนียม 300 บาท รวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน ในทางปฏิบัติก็มีอุปสรรค

โดยสมาคมธุรกิจสายการบินหรือบอร์ดออฟแอร์ไลน์ (BAR) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกีฬา เพื่อชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

บอร์ดออฟแอร์ไลน์ ซึ่งมีสายการบินนานาชาติกว่า 51 สายการบินร่วมเป็นสมาชิก ระบุว่า ไม่สามารถแยกที่จะเก็บเป็นบางคน หรือไม่เก็บเป็นบางคนที่ได้รับการยกเว้นได้ ขณะที่ไออาต้า แจงว่า การเลือกเก็บเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นความเหลื่อมลํ้า ซึ่งขัดกับนโยบายขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO)

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” จากเดิมที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 คาดว่าจะต้องเลื่อนการจัดเก็บออกไปเริ่มเก็บในวันที่ 1 กันยายนนี้แทน เพราะการทดลองระบบการจัดเก็บไม่น่าจะดำเนินการได้ทัน

เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของขั้นตอนการจัดเก็บค่าธรรมเนียม 300 บาทต่อคน ในกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยผ่านทางอากาศ ซึ่งมีแนวทางจะจัดเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน แต่สมาคมสายการบิน และบอร์ดออฟแอร์ไลน์ (BAR) ได้แจ้งว่าในเชิงระบบไม่สามารถทำได้ ถ้าจะให้เก็บเป็นบางคน และบางคนได้รับการยกเว้น ซึ่งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) หรือ ไออาต้า มองว่าจะเกิดความเหลื่อมลํ้า ในกรณีการเลือกเก็บ และไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมกับผู้โดยสารทุกคน

ดังนั้นในขณะนี้ผมได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯไปหาวิธีว่าจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมลํ้า เบื้องต้นมีการหารือว่าอาจจะปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บใหม่ โดยอาจจะต้องเก็บค่าธรรมเนียมกับนักท่องเที่ยวทุกคน แล้วมาทำ VAT Refund (แวตรีฟันด์) คืนเงินให้กับผู้ถือพาสปอร์ตไทย รวมถึงกลุ่มผู้ที่ได้รับการยกเว้น อาทิ นักศึกษาต่างชาติ ผู้พำนักชั่วคราวในไทย

ค่าเหยียบแผ่นดินวุ่น "พิพัฒน์" เลื่อนวันจัดเก็บ-ปรับวิธีการใหม่

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การที่เราอยากให้สายการบินเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวตั้งแต่ต้นทางโดยรวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน แทนจะทำแอพพลิเคชั่นให้นักท่องเที่ยวจ่ายค่าธรรมเนียมเมื่อเดินทางเข้าไทย เป็นเพราะไม่อยากให้นักท่องเที่ยวมากระจุกตัวหนาแน่นอยู่ภายในสนามบิน ดังนั้นการจัดเก็บก็จะยังคงให้สายการบินเป็นผู้ดำเนินการตามแผนเดิม โดยปรับวิธีการจัดเก็บใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการนำเสนอทางออกในเรื่องนี้ในอีก 2 สัปดาห์จากนี้

ขณะที่ข้อกังวลของสายการบินที่วิตกว่าต้องมีการส่งข้อมูลของนักท่องเที่ยวให้หน่วยงานรัฐ เพื่อใช้ในการทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว อาจจะขัดกับกฏหมาย PDPA นั้น เรื่องนี้ไม่ว่าจะเกี่ยวกัน เพราะเราต้องการแค่ชื่อกับนามสกุลของผู้โดยสารที่เช็คอินเท่านั้น ส่วนการประสานเรื่องการทำประกันจะเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา    

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมธุรกิจสายการบินหรือบอร์ดออฟแอร์ไลน์ (BAR) กล่าวว่า สายการบินไม่ได้ขัดข้องในเรื่องที่รัฐบาลต้องการจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งสายการบินพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามีอุปสรรคใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การจะแยกนักท่องเที่ยวที่ต้องถูกเรียกเก็บ และนักท่องเที่ยวที่ถูกยกเว้นไม่ต้องเก็บ ตามระบบ GDS (Global Distribution System) ระบบสำรองที่นั่งโดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ของสายการบินไม่สามารถทำได้

เพราะการจะเก็บค่าธรรมเนียมรวมไปกับตั๋วเครื่องบิน ถ้าจะทำต้องเก็บทุกคน เหมือนที่สายการบินจัดเก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก หรือ (Passenger Service Charge : PSC ) ให้กับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.     

2.หากจะให้สายการบินไปขอข้อมูลของผู้โดยสาร เพื่อนำไปแยกการจัดเก็บว่าเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยว หรือไม่ใช่นักท่องเที่ยว หากผู้โดยสารไม่ยินยอม ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผิดพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และสายการบินมีความกังวลเรื่องของกระบวนการในการส่งต่อข้อมูลของผู้โดยสาร เพื่อที่กระทรวงท่องเที่ยวฯจะนำไปดำเนินการไปซื้อประกันให้นักท่องเที่ยว และเป็นห่วงถ้าข้อมูลจะหลุดออกไป กลัวว่าจะผิดกม.PDPA

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้สายการบินได้เสนอให้กระทรวงท่องเที่ยวฯพิจารณาแนวทางอื่น แทนที่จะเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน เช่น การจัดเก็บผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ บางประเทศ เช่น มาเลเซีย ก็เลือกจะเก็บที่โรงแรมซึ่งนักท่องเที่ยวไปเข้าพัก ท้ายสุดก็คงต้องรอความชัดเจนว่ารัฐจะพิจารณาอย่างไร และรัฐยังต้องรอการตีความของกฤษฎีกาด้วยว่าการจะเก็บค่าธรรมเนียมทุกคนหรือเก็บบางส่วนด้วย