จับตา “อธิรัฐ” กลับลำ ชงครม.ไฟเขียวเซ็นสัญญา “สายสีส้ม” วันนี้

14 มี.ค. 2566 | 03:01 น.

“อธิรัฐ” ซุ่มชงครม.เคาะลงนามสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม ดึงเอกชนร่วมทุน วันนี้ เมินรอศาลพิพากษา หลังค้างเติ่ง 3 คดี

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติ โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เข้ามาดำเนินการในโครงการ ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อ ครม. อนุมัติเห็นชอบตามที่เสนอ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จะมีการการลงนามในสัญญากับเอกชนต่อไป

 

 “การประชุม ครม. ในวาระดังกล่าวคาดว่า จะมีพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคภูมิใจไทย จะแสดงความเห็นที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม จะรอผลการตัดสินของศาลฯที่มีการฟ้องร้องกัน เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีอยู่ 3 คดี ให้ได้ข้อสรุปถึงจะมีทิศทางในการดำเนินการในโครงการนี้ นอกจากนั้นขณะนี้รัฐมนตรีพรรคร่วมหลายคนหวั่นใจว่าหากอนุมัติตามที่เสนอมาอาจจะถูกฟ้องร้องจาก กลุ่มบริษัท BTSC ซึ่งเป็นผู้ร่วมประมูลได้”

สำหรับคดีที่ฟ้องร้องอยู่ในศาล จำนวน 3 คดี ประกอบด้วย

 

1.คดีที่ศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ไม่ชอบ ซึ่งคดีนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ปัจจุบันรอรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

2. คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติ มิชอบกลางที่ กลุ่ม BTSC ฟ้องการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต ซึ่งความคืบหน้าของคดีนี้คือ ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และคดีนี้อยู่ระหว่าง BTSC ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา

จับตา “อธิรัฐ” กลับลำ ชงครม.ไฟเขียวเซ็นสัญญา “สายสีส้ม” วันนี้

3. อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง กรณีที่ BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC ซึ่งความคืบหน้าของคดี อยู่ระหว่างการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 1โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับเนื่องจากเห็นว่า ประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะ เป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC นอกจากนั้นยังมีการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 แต่ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาของ BTSC