“สามารถ” สกัดทาง ครม. เบรกเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม

09 มี.ค. 2566 | 05:07 น.

“สามารถ” เบรก “คมนาคม” ชงครม.เคาะเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม ร่วมทุนเอกชน วอนรอศาลปกครองพิพากษาคดีประมูลรอบ 2-กีดกันการแข่งขัน แนะทางออกดึงเกณฑ์ประมูลครั้งที่ 1 เริ่มต้นใหม่

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า ขณะนี้ยังวางใจกระทรวงคมนาคมไม่ได้

แม้ว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะอยู่คนละพรรคการเมืองมองว่ามีความเป็นไปได้ในการใช้ข้ออ้างต่างๆและเห็นพ้องเหมือนกัน หากมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษาในคดีการประมูลครั้งที่ 2 ที่กีดกันการแข่งขัน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 

ขณะนี้ที่น่าสนใจที่สุดคือ เรื่องคดีการประมูลครั้งที่ 2 ที่มีการกีดกันการแข่งขันและเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย ที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น หากมีการเดินหน้าลงนามสัญญาโครงการร่วมกับเอกชนแล้ว แต่ศาลวินิจฉัยคดีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เชื่อว่าบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะฟ้องร้องแน่นอน เราควรเร่งดำเนินการประมูลให้ถูกต้อง พร้อมเร่งการก่อสร้างให้เร็วที่สุด เนื่องจากโครงการฯนี้เป็นรถไฟฟ้าสายเดียวที่มีสายตะวันออกเชื่อมสายตะวันตก คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก
 

“ผมไม่เคยคัดค้านโครงการฯนี้ แต่โครงการฯล่าช้าเป็นเพราะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลเมื่อปี 2563 หากไม่ปรับหลักเกณฑ์เชื่อว่าโครงการฯจะเดินหน้าอย่างราบรื่น”

 

ทั้งนี้หากมีรัฐบาลชุดใหม่หลังจากการเลือกตั้งจะเดินหน้าอย่างไรนั้น มองว่าถ้ายังไม่ได้ลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีใหม่ เพราะการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 นั้น ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถนำการประมูลครั้งที่ 1 มาดำเนินการต่อได้ เพราะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่นาน  
 

ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า หากมีการใช้เกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 จะมีปัญหาตรงที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เคยเปิดตัวเลขข้อเสนอของโครงการฯว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรฟม.หาทางแก้ไขเอง หากไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 1 เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

 

ที่ผ่านมารฟม.ใช้หลักเกณฑ์เดิมในการประมูลโครงการฯต่างๆมาโดยตลอด แต่โครงการฯนี้ รฟม.ปรับหลักเกณฑ์ใหม่โดยอ้างว่าหลักเกณฑ์เดิมไม่เหมาะสม เพราะผ่านพื้นที่โบราณสถานหลายแห่ง แต่กลับพบว่าการประมูลครั้งที่ 2 กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิมอีก ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพงที่เชื่อมท่าพระ มีการก่อสร้างโดยขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน โดยใช้หลักเกณฑ์การประมูลเดิมได้โดยที่ไม่เกิดปัญหา 


ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า การประมูลครั้งที่ 1 บีทีเอสซีอาจเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ เนื่องจากมีการขอเงินสนับสนุนจากรฟม.เพียง 9,675 ล้านบาทเท่านั้น หลังจากลงนามสัญญาร่วมกับผู้ชนะการประมูลแล้วภายใน 3 ปี 6 เดือนจะต้องให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายตะวันออก ซึ่งใกล้จะให้บริการแล้ว

 

ส่วนการประมูลในครั้งที่ 2 พบว่าการประมูลครั้งที่ 1 บริษัทอินชอน ไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ แต่การประมูลครั้งที่ 2 กลับเข้าร่วมประมูลโครงการฯได้ โดยมีเงื่อนไขลดคุณสมบัติผู้เดินรถ และเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เดินรถในไทย แต่กลับไม่จำกัดคุณสมบัติผู้รับเหมาในไทยให้แคบลงหรือเปิดกว้างผู้รับเหมาให้กว้างขึ้น ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติที่ซื้อซองเข้าร่วมประมูลได้ลำบาก โดยระบุว่าผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลในไทยรายเดียวหรือกลุ่มนิติบุคคลรวมกลุ่ม (Joint venture) และบริษัทไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% 

 

ทั้งนี้ยังพบว่าการประมูลครั้งที่ 2 มีเอกชนซื้อซองประมูลโครงการฯ ทั้งหมด 14 ราย แต่กลับยื่นเข้าร่วมการประมูลเพียง 2 ราย หากไม่มีการปรับหลักเกณฑ์การประมูล เชื่อว่าบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีและบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC จับมือร่วมกันได้ ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน)หรือ CK

เนื่องจากในโครงการฯที่ผ่านมาบีทีเอสซีได้เสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐดีที่สุดและชนะการประมูลหลายโครงการฯ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ,โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์),เมืองการบินภาคตะวันออก,สนามบินอู่ตะเภา ฯลฯ ซึ่งบีทีเอสซียืนหนึ่งในเรื่องการประมูลโดยใช้หลักเกณฑ์เดิม

 

นอกจากนี้การที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ แต่เมื่อมีการประมูลครั้งที่ 2 กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม แต่มีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติทางเทคนิค,การเดินรถ ซึ่งการประมูลครั้งที่ 1ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขในลักษณะนี้ อีกทั้งผู้รับเหมาสามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้ในการยื่นประมูลได้นั้น ตามปกติผู้นำกลุ่มในการยื่นประมูลได้จะต้องเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าเพราะเป้นผู้ให้บริการถึง 30 ปี ไม่ใช่ผู้รับเหมาที่ก่อสร้างเพียง 6 ปีแล้วเสร็จ