1 ปี “รัสเซีย-ยูเครน” ไทยแบกอ่วมต้นทุนสงคราม 5 เเสนล้าน

25 ก.พ. 2566 | 00:29 น.

1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาคผลิตไทยแบกต้นทุนเพิ่ม 5.4 แสนล้าน เศรษฐกิจโลกเสียหายกว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ ค้าไทย-รัสเซียวูบกว่า 50% บิ๊กสภาอุตฯชี้สถานการณ์ส่อปะทุความรุนแรงรอบใหม่ จับตาราคาพลังงาน-เงินเฟ้อโลกพุ่งอีกระลอก หอการค้าฯชี้เป็นปีที่ศก.ไทยยังเปราะบาง

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ปะทุตั้งแต่วันที่เมื่อ 24 ก.พ. 2565 ทำโลกสะท้าน ไทยสะเทือน จากผลพวงของสงครามได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งวิกฤติพลังงานขาดแคลน และปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อ ราคาอาหาร วัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นทั่วโลกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และเกิดปัญหาขาดแคลนซัพพลาย (supply chain shortage)ในหลายสินค้าเป็นช่วงๆ ในรอบปีที่ผ่านมา

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมของไทยในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา โดยดูต้นทุนด้านสินค้าเกษตร วัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ค่าขนส่ง ค่าแรง และดอกเบี้ย เป็นต้น โดยใช้โครงสร้างต้นทุนปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table : IO) ปี 2558 แต่ปรับโครงสร้างต้นทุนเป็นของปี 2564(Readjusted IO Model) พบว่า ต้นทุนภาคอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 543,827 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของมูลค่าอุตสาหกรรมทั้งหมด

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร อาหารแปรรูป และเคมีภัณฑ์ (ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท) ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ อาหารสัตว์ เสื้อผ้า ยางพารา และพลาสติก (ต้นทุนเพิ่ม 3-4 หมื่นล้านบาท)

เศรษฐกิจโลกสูญ 2.8 ล้านล้านดอลล์

ขณะเดียวกัน 1 ปีของสงคราม ได้ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี)ของโลกอย่างหนัก โดยลดลงจาก 6.2% ในปี 2564 เหลือ 3.2% ในปี 2562 (ตามรายงานของ OECD) จากเศรษฐกิจทุกประเทศชะลอตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกกว่า 2.8 ล้านล้านดอลลร์สหรัฐฯ (กว่า 95 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 34 บาทต่อดอลลาร์) จากเงินเฟ้อสูงส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในทุกประเทศ ขณะที่รายได้ลดลง แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

 “เห็นได้ชัดจากเงินเฟ้อในยุโรปและสหรัฐฯอเมริกา และทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจาก 3 สาเหตุได้แก่ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโลก ราคาสินค้าธัญพืชปรับสูงขึ้นทั้งถั่วเหลืองข้าวโพด และเรฟซีด เป็นต้น รวมถึงราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว(ดูกราฟิกประกอบ) ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่า ๆ ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ผลกระทบด้านสังคม ทำให้ชาวยูเครนต้องอพยพเข้าไปในยุโรปมากกว่า 8 ล้านคน และประชากรโลกขาดแคลนอาหารมากถึง 40 ล้านคน”

1 ปี “รัสเซีย-ยูเครน” ไทยแบกอ่วมต้นทุนสงคราม 5 เเสนล้าน

ค้าไทย-รัสเซียวูบกว่า 50%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า ผลกระทบทางตรงจากสงคราม ทำให้ในปีที่ผ่านมา การค้าไทย-รัสเซีย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562(ก่อนเกิดโควิด)ลดลงกว่า 50% และจากที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกแซงชั่นรัสเซียในทุกรูปแบบทั้งทางเศรษฐกิจโดยตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (ระบบการชำระเงิน การโอนเงิน) กระทบกับคู่ค้าของรัสเซียซึ่งรวมทั้งไทย

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ผู้ส่งออกของไทยในช่วงปีแรกของสงครามมึนไปหมด เพราะการค้ากับรัสเซียไม่สามารถที่จะเปิดแอล/ซี และไม่สามารถจะชำระเงินผ่านธนาคารเดิมได้ ต้องไปหาช่องทางอื่น ซึ่งในช่วงหลังของปี 2565 ก็เริ่มหาช่องทางเจอ โดยผ่านประเทศที่เป็นกลาง ในตะวันออกกลางบ้าง หรือผ่านจีน การค้าขายเปลี่ยนจากดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเป็นสกุลหยวนของจีน สิ่งเหล่านี้เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มภาระเวลาในการส่งออก จากโลจิสติกส์ทุกอย่างถูกแซงชั่น สายการเดินเรือ เครื่องบินไม่สามารถบินตรงได้ ต้องเปลี่ยนเส้นทางผ่านประเทศที่ 3 แต่ก็จำเป็นต้องทำสำหรับสินค้าที่ยังพอมีกำไรคุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่ถ้าสินค้าที่มีกำไรน้อยก็หยุดไป”

จับตาปี 2 ส่อปะทุรุนแรงรอบใหม่

อย่างไรก็ดีสงครามรัสเซีย-ยูเครนในเวลานี้มีแนวโน้มจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้น ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมารัสเซียได้มีการปรับแผน โดยรับทหารใหม่เพิ่มอีก 5 แสนนาย และมีการเคลื่อนไหวส่งกำลังพลไปที่ชายแดนเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งกำลังเข้าเบลารุส (พันธมิตรรัสเซีย) ซึ่งจะเป็นบริบทใหม่ในปีที่ 2 ของสงคราม โดยหลายสำนักข่าวระบุว่า ทางรัสเซียอาจจะบุกใหญ่อีกครั้งหลังผ่านฤดูหนาวอันใกล้นี้

ส่วนสัญญาณที่ 2 คือ ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐได้มีการลงมติที่จะลงขันกันในการส่งรถถังจำนวนมากไปให้ยูเครน รวมทั้งเครื่องยิงอาวุธพิสัยไกล และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าสงครามคงปะทุใหญ่ขึ้น อาจรุนแรงหรือขยายวงกว้างขึ้น เพราะผู้นำรัสเซียออกมาประกาศล่าสุดว่า “รัสเซียแพ้ไม่ได้” และถึงจุดหนึ่งอาจจะต้องตัดสินใจในการที่จะต้องใช้นิวเคลียร์

โลก-ไทยเสี่ยงน้ำมัน-เงินเฟ้อจ่อพุ่งอีก

“หากมีการรบกันที่รุนแรงขึ้นอีกครั้ง อาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน ราคาก๊าซพุ่งขึ้นไปอีก ตรงนี้วงจรก็จะกลับมาที่เงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง และอาจจะเกิด Supply chain Shortage  (การขาดแคลนซัพพลาย) หรือซัพพลายเชน ดิสรัปชั่น การขนส่งสินค้าต่าง ๆ อาจจะเริ่มไม่สะดวกขึ้นอีก สิ่งเหล่านี้ต้องจับตาในปีนี้ ซึ่งถือเป็นปีที่มีความสำคัญสำหรับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนพอสมควร”

“สิ่งที่ไทยควรทำเวลานี้คือ ต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ เพิ่มเติม จากเดิมเรามีการซื้อล่วงหน้าจากแหล่งประจำๆ ในราคาสูง ทั้งนี้เพื่อบาลานซ์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่วนที่ 2 ต้องหาเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตไฟฟ้า หรือการใช้พลังงานทดแทน ที่เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เช่น พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน โซลาร์ ที่เรามีศักยภาพที่พอจะช่วยได้ และกระจายความเสี่ยงในการใช้พลังงาน โดยใช้บทเรียน 1 ปีที่ผ่านมา ปิดช่องว่างพัฒนาให้ดีขึ้น รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาชนต้องร่วมกันประหยัดพลังงาน เพราะมีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันและค่าพลังงานจะเหวี่ยงตัวขึ้นไป หากเกิดความตึงเครียด หรือการรบที่รุนแรงมากขึ้น”

รัฐ-เอกชน โรดโชว์ดึงลงทุน

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบภาคธุรกิจ การค้าได้รับความเสียหายในวงกว้าง ทั้งจากราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนของภาคธุรกิตที่กำลังปรับสูงขึ้น

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้จากสงครามที่ยังมีความยืดเยื้อทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีความเปราะบางมา แต่ในส่วนของไทยในเวลานี้ยังมีปัจจัยบวก เช่น จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ประเมินจะมีเงินสะพัดทั่วประเทศในครั้งนี้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ทำให้กลุ่มฐานรากจะได้รับอานิสงส์

อย่างไรก็ดีเพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนของประเทศที่เป็นอีกเครื่องยนต์ที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ในเดือนเมษายนนี้ทางสภาหอการค้าฯร่วมกับบีโอไอ สำนัก งานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(สกพอ.) และกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางไปโรดโชว์ดึงการลงทุนที่จีน และซาอุดิอาระบีย โดยมุ่งเป้าดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เช่น การแพทย์ และสุขภาพ พลังงานสะอาด อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3865 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ. 2566