การบินไทยผงาดปิดปี65 กำไรดำเนินงานพุ่งกระฉูด แต่ยังขาดทุน

24 ก.พ. 2566 | 02:46 น.

การบินไทยผงาดแผนฟื้นฟูกิจการฉลุย ท่องเที่ยวฟื้น ส่งผลปิ 2565 ขาดทุนลดฮวบเหลือแค่ 252 ล้านบาท ขณะที่กำไรดำเนินงานพุ่งกระฉูด139.6%

การบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวมตลอดปี 65 รวม 1.05 แสนล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 7.79 พันล้านบาท 

นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งผลการดำเนินการสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ในปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อย กลับมาเปิดให้บริการในเส้นทางบินเพิ่มเติมจากที่หยุดบินไปนับตั้งแต่มีการระบาดของโรค โควิด-19 เพื่อขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิงของประเทศ และรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้จากอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่กลับมาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 

ผลประกอบการการบินไทย ปี 2565

ทั้งจากความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ทั้งการหารายได้จากการขนส่ง การปรับลดขนาดองค์กร การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและการเจรจาลดค่าใช้จ่ายตามสัญญาในเรื่องค่าเช่าและค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน และการหาประโยชน์จากทรัพย์สินรอง

ทำให้บริษัทฯ มีระดับกระแสเงินสดในการดำเนินกิจการที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ระดับความต้องการสินเชื่อใหม่ลดลงจากเดิม คณะผู้บริหารแผนฯ จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2565

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีการจัดการประชุมเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ซึ่งที่ประชุมมีมติยอมรับข้อเสนอการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ผู้บริหารแผนเสนอ และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยสรุปสาระสำคัญของการแก้ไข ได้แก่ การปรับปรุงฝูงบิน การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้ การก่อหนี้ และการระดมเงินทุน การปรับโครงสร้างทุน การเพิ่มทุนและการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน และผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินใช้งานอยู่ทั้งสิ้น 64 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 10.4 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตค้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 243.2% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 1,1 18.6% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 67.9% สูงกว่าปีก่อน
ซึ่งเฉลี่ยที่ 19.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 9.01 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 449.4%

ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ในปี 2565 มีกำไรจาก
การดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 7,797 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 27,499 ล้านบาท (139.6%) 

โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 105,041 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 81,294 ล้านบาท (342.3%) สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่ง
ผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น 81,363 ล้านบาท (494.4%) จากการที่บริษัทฯ กลับมาเปิดเส้นทางบินในภูมิภาคต่างๆ
มากขึ้นทั้งในยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย พร้อมทั้งยังมีการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินมากขึ้น 

ประกอบกับมีรายได้จากการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 1,559 ล้านบาท (30.5%) จากเที่ยวบินลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น97,244 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 53,795 ล้านบาท (123.8% ) จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิต
และเหรือปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จากราคาน้ำมันที่สูงกว่า
ปีก่อนถึง 63.8 %

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายคงที่ต่ำกว่าปีก่อน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีต้นทุนทางการเงิน (ซึ่งเป็นการรับรู้ต้นทุนทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 : TFRS 9) จำนวน 12,387 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 2,897 ล้านบาท (30.5%)

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากกลับรายการผลขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์ และกำไรจากการขายสินทรัพย์ ถึงแม้จะขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชี เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท 

โดยในปี 2565 มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิ เป็นรายได้รวม 2,904 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนเป็นรายได้จำนวน 81,525ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทบ่อยขาดทุนสุทธิ จำนวน 252 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 55,365 ล้านบาท

โดยเป็นขาดทุนส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 272 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.12 บาท ในขณะที่ปีก่อนกำไรต่อหุ้น 25.25 บาท แต่มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) เป็นกำไรจำนวน 17,241 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19,953 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 198,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก
วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 36,959 ล้านบาท (22.9%) หนี้สินรวมมีจำนวน 269,202 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 36,732 ล้านบาท (15.8%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 71,024 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 227 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย  จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการบินไทยเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 และทำกำไรในไตรมาสที่4 มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน  แม้ราคาน้ำมันจะสูงมากในประวัติการณ์แต่ก็สามารถขายตั๋วราคาสูงขึ้นได้ นักท่องเที่ยวกลับมากว่าครึ่งหนึ่งของช่วงโควิด-19ที่ผ่านมา

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

การบินไทยผงาดปิดปี65 กำไรดำเนินงานพุ่งกระฉูด แต่ยังขาดทุน

สำหรับบริษัทย่อยอย่างไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด มีผลการดำเนินงานขาดทุน 4,248 ล้านบาท และรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิของบริษัทฯและบริษัทย่อยสุทธิที่เป็นรายได้ 11,148 ล้านบาท 

หากเปรียบเทียบปี 2565 และปี 2564 บริษัทการบินไทยฯและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 198,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.9% มีหนี้สินรวม 269,202 ล้านบาท เพิ่มขึ้น16% ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯและบริษัทย่อยติดลบจำนวน 71,024 ล้านบาท ลดลง 227 ล้านบาท ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทติดลบ 63,493 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 3,165 ล้านบาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 34,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,025 ล้านบาท 

ปัจจุบันการบินไทยมีอากาศยานที่ใช้บินรวมทั้งสิ้น 64 ลำ และในตารางฤดูร้อนปี 66 นี้ให้บริการสู่ 39 เส้นทางบินทั่วโลก พร้อมเพิ่มความถี่ในเส้นทางยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย เร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียวพอต่อแผนเส้นทางบินด้วย