ความคาดหวัง (ของไทย) ต่อภาคการท่องเที่ยวไทยหลังการเปิดประเทศของจีน

12 ก.พ. 2566 | 11:38 น.

ความคาดหวัง (ของไทย) ต่อภาคการท่องเที่ยวไทยหลังการเปิดประเทศของจีน: คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดยธาราทิพย์ ตั้งกาญจนภาสน์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

ตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความหวังของภาคการท่องเที่ยวจากการเปิดเมืองจะสมหวังเกินคาดสะท้อนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากถึง 11.2 ล้านคนและมากกว่าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศใกล้เคียง หรือ Short-Haul Tourist Groups ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย อินเดีย ลาว กัมพูชา และสิงคโปร์

นอกจากนี้ ต้นปี 2566 ความหวังจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทยก็ยิ่งมีมากขึ้น หลังการประกาศเปิดประเทศของจีน ซึ่งนับเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เคยมีสัดส่วนกว่า 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 หรือก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 

โดยการยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศของจีนมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีนย่อมได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจรของจีน (Ctrip) ระบุว่า ชาวจีนค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10 เท่าภายในครึ่งชั่วโมงหลังการประกาศเปิดประเทศ โดยจุดหมายที่เป็นที่นิยม ได้แก่ มาเก๊า ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย และเกาหลีใต้ 

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Trip.com ยังระบุอีกว่าการจองเที่ยวบินของชาวจีนเพิ่มขึ้น 254% จากวันก่อนหน้าการประกาศเปิดประเทศ แสดงให้เห็นถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการกลับมาท่องเที่ยว โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายหลัก

หลายสถาบันได้มีคาดการณ์ถึงนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงทาง ttb analytics ประเมินว่า ปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ที่ 28 ล้านคนและช่วยฟื้นรายได้การท่องเที่ยวต่างชาติกลับสู่ระดับ 75% เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือก่อนช่วงโควิด-19

นอกจากนี้ จากการที่จีนได้ผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ล่าสุดได้อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวเริ่มดำเนินการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2566 ใน 20 ประเทศแรกรวมถึงไทย 

อย่างไรก็ตาม ผลจากการปิดประเทศของจีนเป็นเวลานานถึง 3 ปี ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องในช่วงเริ่มต้นอาจไม่ทันกับภาวะตลาดที่ทรงตัวมานาน เช่น เที่ยวบินที่ค่อนข้างจำกัดทำให้ราคาค่าโดยสารสูงและการใช้เวลาในการขอทำหนังสือเดินทาง วีซ่าและเอกสารอื่นๆ ที่นานขึ้น

และที่ต้องติดตามต่อไปยังคงเป็นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้งหลังนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามามากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีนยังคงมีอยู่

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ความคาดหวังของผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเองย่อมต้องจัดความพร้อมเพื่อรองรับกับปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามามากขึ้นด้วยเช่นกัน

ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาครัฐจึงควรเร่งปรับตัวเพื่อรองรับเทรนด์การท่องเที่ยวให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น พร้อมเข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยวไม่เพียงเฉพาะจากประเทศจีน แต่รวมถึงประเทศหลักอื่น ๆ ที่เข้ามาท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเติบโตและเพิ่มศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดเงินทุนต่างชาติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และไม่ควรเน้นการเติบโตของปริมาณนักท่องเที่ยวเท่านั้น จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในด้านคุณภาพเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพใช้จ่าย  ให้มีความพึงพอใจมากขึ้น โดยจะทำให้มีรายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นและเพิ่มโอกาสการเข้ามาท่องเที่ยวซ้ำในอนาคต ส่งผลให้ระดับรายได้จากการท่องเที่ยวกลับมาสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ได้ในปี 2567 

สุดท้ายนี้ ความหวังของภาคการท่องเที่ยวไทยที่ดูสดใสมากขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน มาพร้อมกับความท้าทายจากการแข่งขันของประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมิใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่หวังว่านักท่องเที่ยวจีนจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของประเทศ แต่รวมถึงอีกหลายประเทศด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ความพยายามที่จะผลักดันความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวไทยจึงเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจและภาครัฐควรช่วยกันผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยเป็นที่ชื่นชอบ บอกต่อ และกลับมาเที่ยวอีกในอนาคต