นายกฯ ไทย-มาเลเซีย หารือความร่วมมือพลังงาน ดันพื้นที่ชายแดนสงบ

09 ก.พ. 2566 | 14:28 น.

นายกฯ ไทย-มาเลเซีย หารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ พร้อมพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วม ดัน “แผ่นดินทอง” ร่วมกัน สร้างความสุขสงบ พร้อมลงนามความร่วมมือแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ พลังงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซีย เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญว่า นายกฯ ยินดีที่ได้ต้อนรับนายกฯ มาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นายกฯ มาเลเซีย ถือเป็นมิตรที่เข้าใจไทย มีส่วนสำคัญในการสานสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย ให้แนบแน่น

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมุมมองครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน เห็นพ้องถึงการผสานความร่วมมือ ผลักดันความเชื่อมโยงทุกมิติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย ให้เป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง เพื่อให้พื้นที่ชายแดนร่วมเป็น “แผ่นดินทอง” ที่มีความสุขสงบ ซึ่งมีผลลัพธ์สำคัญ ดังนี้

 

นายกฯ ไทย-มาเลเซีย หารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

ด้านการส่งเสริมการเชื่อมโยงกันในทุกมิติ 

ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสนับสนุนการไปมาหาสู่และการค้าขายระหว่างไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ของไทยกับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงที่ครอบคลุม ทั้งในกรอบทวิภาคีและไตรภาคีอย่าง IMT-GT ที่ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน และสร้างประโยชน์ถึงประชาชนได้ทุกระดับถึงรากหญ้า 

ด้านการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ยังมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาได้อีกมาก จึงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มมูลค่าและพลวัตของการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้า คือ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9.6 แสนล้านบาท ภายในปี 2568 

 

นายกฯ ไทย-มาเลเซีย หารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

 

ด้านการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ 

ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และรัฐชายแดนภาคเหนือของมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนระยะยาว และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา SMEs และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

 

นายกฯ ไทย-มาเลเซีย หารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

ด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน 

โดยเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม ผ่านความร่วมมือ ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งชาวมาเลเซีย ถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มาท่องเที่ยวไทยในปี 2565 และคนไทยจำนวนไม่น้อยต่างชื่นชอบที่จะไปท่องเที่ยวที่มาเลเซีย 

ด้านการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ 

เพื่อรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองของการพัฒนาในภูมิภาคและในระดับโลก พร้อมย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการมีเอกภาพในการทำงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของโลก 

 

นายกฯ ไทย-มาเลเซีย หารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ นายกฯ ยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการทำงานร่วมกับนายกฯ มาเลเซีย และรัฐบาลมาเลเซียอย่างเต็มที่ในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ มาเลเซียมาดานี (Malaysia Mandani) ของนายกฯ มาเลเซียที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่ 

1. บันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย 

2. บันทึกความเข้าใจระหว่าง TNB Renewable Sdn. Bhd. และ Planet Utility Co., Ltd. เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย

3. บันทึกความตกลงระหว่าง TNB Power Generation Sdn. Bhd. และ B Grimm Power Public Co. Ltd. ซึ่งเกี่ยวกับข้อเสนอในการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

4. บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. (MDEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

 

นายกฯ ไทย-มาเลเซีย หารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ