มาเลย์เดือด ขู่หยุดส่งออกน้ำมันปาล์มให้อียู โต้กม.คุ้มครองป่า

13 ม.ค. 2566 | 01:33 น.

วงการน้ำมันปาล์มสะเทือนหลังอียูออกกม.ใหม่ ส่งผลห้ามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า 'มาเลเซีย' ผู้ผลิตรายใหญ่ ลั่นพร้อมตอบโต้ด้วยการระงับส่งออก

 

ปมร้อนระหว่าง สหภาพยุโรป (อียู) และ มาเลเซีย ถึงจุดเดือด เมื่อทางการมาเลเซียประกาศวานนี้ (12 ม.ค.) ว่า พร้อมจะหยุดการส่งออกน้ำมันปาล์ม ไปยังอียู หากจำเป็นต้องทำ เพื่อเป็นการตอบโต้ กฎหมายใหม่ของอียู ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนธันวาคม

 

โดยกฎหมายใหม่ดังกล่าวที่มีจุดมุ่งหมายปกป้องพื้นที่ป่า ได้ตั้งเงื่อนไขห้ามการจำหน่ายน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า เว้นแต่กรณีที่ผู้นำเข้าของอียูสามารถแสดงหลักฐานว่า กระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดไม้ทำลายป่า

 

ฟาดิลเลาะห์ ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาเลเซีย เพิ่มเติมรายละเอียดว่า มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งต่างก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก จะหารือกันเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ดังกล่าวของอียู พร้อมกล่าวยืนยันว่า หากจำเป็นต้องดำเนินการโต้ตอบอะไรก็ตามที่อียูทำอยู่ มาเลเซียก็พร้อมจะทำ

 

 “หรือไม่ อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ เราแค่หยุดส่งออก (น้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม)ไปยังยุโรป และมุ่งสนใจประเทศอื่น ๆ แทน ถ้าพวกเขา (อียู) จะทำให้เราต้องมีปัญหาในการส่งออก”

 

อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มถูกกล่าวหาเป็นตัวการของการตัดไม้ทำลายป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ทั้งนี้ อียู หนึ่งในผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้มีการผ่านกฎหมายใหม่ดังกล่าวออกมาในเดือนธันวาคม 2565 ทำให้เกิดเสียงร้องไม่พอใจจากทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มชั้นนำของโลกในทันที

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในโลกตะวันตกได้ออกมากล่าวโทษอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มว่าเป็นต้นเหตุของการถากถางป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียจะจัดทำมาตรฐานการรับรองความยั่งยืนและบังคับใช้มาตรฐานนี้กับไร่สวนปาล์มน้ำมันทุกแห่งแล้วก็ตาม

 

รมต.ฟาดิลเลาะห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียด้วย ได้เรียกร้องให้สมาชิกสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม หรือ Council of Palm Oil Producing Countries (CPOPC) ที่มีมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นผู้นำกลุ่ม เร่งทำงานร่วมกันเพื่อต้านกฎหมายใหม่ฉบับนี้ของอียู และจัดการกับ “คำกล่าวหาอันไร้มูล” จากทั้งอียูและสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มด้วย

 

ทางด้านนายมิคาลิส โรคาส เอกอัครราชทูตอียูประจำมาเลเซีย เปิดเผยเกี่ยวกับประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นว่า อียูไม่ได้สั่งห้ามการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย และกฎหมายต้านการตัดไม้ทำลายป่านี้ก็ไม่ได้นำมาซึ่งการกีดกันการส่งออกของมาเลเซีย

 

รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันปาล์มของอียูน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า หรือก่อนเป้าหมายที่กฎหมายฉบับใหม่นี้กำหนดไว้เสียอีก โดยเมื่อปี ค.ศ. 2018 อียูได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เนื้อหากำหนดให้ประเทศสมาชิกอียูร่วมกันลดการใช้เชื้อเพลิงสำหรับระบบขนส่งที่มาจากน้ำมันปาล์มให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 (หรือภายในปีพ.ศ. 2573) เนื่องจากน้ำมันดังกล่าวมีส่วนทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า

 

ประเด็นดังกล่าวทำให้ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียต่างยื่นเรื่องฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) โดยอ้างว่า มาตรการเกี่ยวกับเชื้อเพลิงน้ำมันปาล์มของอียูเป็นการเลือกปฏิบัติและนำมาซึ่งการกีดกันทางการค้า

 

ข้อมูลจากคณะกรรมการน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย (Malaysian Palm Oil Board) ระบุว่า อียู คือ ผู้บริโภคน้ำมันปาล์มที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก และเป็นลูกค้านำเข้าน้ำมันปาล์มคิดเป็นสัดส่วน 9.4% ของผลผลิตรวมของมาเลเซียในปีที่ผ่านมา (2022) ด้วยปริมาณการนำเข้า 1.47 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดจากระดับ 10.5% ในปีก่อนหน้า (2021)

 

ในสัปดาห์นี้ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ตกลงที่จะร่วมต่อสู้คัดค้าน “การเลือกปฏิบัติต่อน้ำมันปาล์ม” โดยฝ่ายอียู และจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านความร่วมมือผ่านสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (CPOPC) ด้วย

 

ทั้งนี้ ผลผลิตน้ำมันปาล์มรวมกันของมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้น คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 85% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก