รู้จัก"กาฬโรคแอฟริกาในม้า" หลังไทยจ่อประกาศยกเลิกปีนี้

08 ก.พ. 2566 | 07:28 น.

ทำความรู้จักโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า หลังประเทศไทยจ่อประกาศยกเลิกภายในปีนี้ อัพเดท สาเหตุ และ อาการ ดูรายละเอียดที่นี่

จากเหตุการณ์การเกิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ในปี 2563 ประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 การระบาดของโรคมีพื้นที่ทั้งหมด 17 จังหวัด มีจำนวนสัตว์ป่วยสะสม 610 ตัว และตายสะสม 568 ตัว

ล่าสุด กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร รายงานความคืบหน้าการขอคืนสถานภาพปลอดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness : AHS) ในไทย หลังจากที่ไม่มีรายงานพบกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทยมากว่า 2 ปีแล้วเตรียมประกาศปลอดโรคแอฟริกาในม้า ภายในปีนี้

ก่อนที่จะมีการประกาศโรคแอฟริกาในม้าอย่างเป็นทางการนั้น มาอัพเดทกันอีกรอบว่า โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า สาเหตุและอาการ

 

โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness)

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้ม family Reoviridae genus Orbivirus เชื้อนี้ถูกยับยั้งได้ด้วยความร้อน มากกว่า 140°F สารละลายฟอร์มาลิน  ß-propriolactone อนุพันธ์ ของ acetylethyleneimine หรือ การฉายรังสีและถูกทำลายได้ ด้วยความเป็นกรดด่างที่ pH น้อยกว่า 6 หรือมากกว่า 12 นอกจากนี้สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น 2% กรดอะซิติก หรือ กรดซิตริก ในการฆ่าเชื้อโรคได

สัตว์ที่ไวต่อการเกิดโรค

ม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ และสุนัข โดยมักทำให้ม้าและล่อแสดงอาการป่วยรุนแรงและตาย ส่วนในลา และ ม้าลายจะแสดงอาการแบบไม่รุนแรง ทั้งนี้ไม่พบรายงานการติดต่อจากสัตว์สู่คน

ระบาดวิทยา

ไม่มีรายงานการเกิดโรคนี้ในประเทศไทย แต่พบรายงานการเกิดโรคในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง ประเทศอียิปต์ สเปน โปรตุเกส โมร็อกโค ปากีสถาน และอินเดีย

กาฬโรคแอฟริกาในม้า

 

ระยะฟักตัวของโรค

ประมาณ 2-21 วัน

อาการ

1.สัตว์ที่ติดเชื้อโรคกาฬโรคแอฟริกา จะแสดงอาการได้ 4 รูปแบบ คือ 1. แบบเฉียบพลันรุนแรง (peracute หรือ pulmonary form) สัตว์จะมีไข้สูง และแสดงอาการ ทางระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง รูจมูกขยาย ยืดคอไปข้างหน้า หายใจลำบาก ไอ มีน้ำมูก เป็นฟองสีเหลืองขุ่น (frothy serofibrinous) สัตว์จะตายภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากแสดงอาการ

2.แบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute edematous หรือ cardiac form) สัตว์จะมีไข้สูงประมาณ 3-6 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง และ มีอาการบวมน้ำบริเวณขมับ (supraorbital fossae) เปลือก ตา แก้ม ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณขากรรไกร คอ ไหล่ และ หน้าอก แต่ไม่พบการบวมน้ำที่ส่วนล่าง ของลา ตัว เช่น ขา นอกจากนี้จะมีอาการซึม เสียดท้อง มีจุดเลือดออกบริเวณลิ้น และ เยื่อบุตา สัตว์จะตายจากภาวะหัวใจล้มเหลว หากสัตว์หายป่วย อาการบวมน้ำจะลดลงใน 3-8 วัน

3. แบบเฉียบพลัน (acute หรือ mixed form) สัตว์จะแสดงอาการทั้งทางระบบทางเดินหายใจ และมีภาวะบวมน้ำ

 4. แบบไม่รุนแรง (horsesickness fever) สัตว์จะมีไข้ประมาณ 3-8 วัน โดยไข้จะลดในตอนเช้า และมีไข้สูงในตอนบ่าย อาการอื่นๆที่อาจพบได้ คือ ซึม เบื่ออาหาร บวมน้ำบริเวณขมับ เยื่อเมือก มีจุดเลือดออก และหัวใจเต้นเร็ว สัตว์ที่ป่วยแบบไม่รุนแรงมักหายจากอาการป่วยได้

การควบคุมและป้องกันโรค

1. ควรตรวจสุขภาพสัตว์เป็นประจำ หากพบสัตว์ป่วยต้องแยกออกจากฝูง เพื่อป้องกันการเกิดโรค

 2. กำจัดแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะของโรค หรือ ป้องกันไม่ให้แมลงดูดเลือดสามารถดูดเลือดสัตว์ได้ โดยการให้ม้าอยู่ในคอกที่ใช้มุ้ง หรือ ตาข่ายในการป้องกันแมลงดูดเลือด โดยเฉพาะในเวลาที่แมลง ดังกล่าวออกหากิน เช่น ช่วงเวลาพลบค่ำถึงเช้ามืด หรือ ใช้ยาฆ่าแมลงที่เหมาะสมพ่นบริเวณคอก และ ตัวม้า

3. กรณีที่มีการระบาดของโรค ต้องมีการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกบริเวณที่เกิดโรค

4. กรณีที่นำสัตว์ใหม่เข้าฝูง ควรกักไว้อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อตรวจร่างกายและสังเกตอาการป่วย

 5. ทำความสะอาดคอก บริเวณที่เลี้ยงสัตว์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

ที่มา: กรมปศุสัตว์