“กรมปศุสัตว์” ยันไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ยื่น WOAH ขอคืนสถานภาพ

08 ก.พ. 2566 | 06:16 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ มั่นใจ ไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ยื่นขอคืนสถานภาพ พร้อมรับการตรวจประเมินจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกอย่างเป็นทางการ ชี้ประเมินผ่านจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ บูมท่องเที่ยว

“กรมปศุสัตว์” ยันไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ยื่น WOAH ขอคืนสถานภาพ

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การเกิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ในปี 2563 ประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยตรวจพบในพื้นที่ 17 จังหวัด มีจำนวนสัตว์ป่วยสะสม 610 ตัว และตายสะสม 568 ตัว กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้พบโรคครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563

สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีรายงานพบกาฬโรคแอฟริกาในม้ามากกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 3 เป็นระยะขอคืนสถานภาพปลอดโรคตามแผนปฏิบัติการกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้า เพื่อคืนสถานภาพปลอดโรค จากองค์การสุขภาพสัตว์โลกของประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ได้สถานภาพปลอดโรคภายในปี พ.ศ. 2566

 

“กรมปศุสัตว์” ยันไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ยื่น WOAH ขอคืนสถานภาพ

 

จากสถานการณ์ของโรคที่ดีขึ้นมาก กรมปศุสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และทุกหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ได้จัดทำข้อมูลสำหรับขอรับรองการปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกเรียบร้อยแล้ว และได้ยื่นเรื่องขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS อย่างเป็นทางการต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ซึ่งทางคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ทางด้านโรคสัตว์ (Scientific committee) ของ WOAH จะดำเนินการตรวจสอบเอกสารให้เสร็จสิ้นภายในกลางปี พ.ศ. 2566

หากผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ประเทศไทยจะได้รับสถานะปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าอย่างเป็นทางการจาก WOAH ในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งองค์การสุขภาพสัตว์โลกจะเวียนแจ้งประเทศที่เป็นสมาชิกของ WOAH ทั่วโลกต่อไป

 

“กรมปศุสัตว์” ยันไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ยื่น WOAH ขอคืนสถานภาพ

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวอีกว่า เมื่อประเทศไทยปลอดโรค AHS แล้ว จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าระดับนานาชาติรายการต่าง ๆ ได้ และจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมดีขึ้น รวมทั้งกิจการการนำเข้า ส่งออกสัตว์กลุ่ม Equids จะสามารถดำเนินการได้ตามปกติภายใต้ข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบการควบคุมโรค และเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพของประเทศไทย