เปิดความคืบหน้า "รถไฟความเร็วสูงไทย" ทำไปแค่ไหนก่อนลุยเลือกตั้ง

29 ม.ค. 2566 | 05:35 น.

รัฐบาลเปิดความคืบหน้า "รถไฟความเร็วสูง" เส้นทางเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา หลังเริ่มงานก่อสร้างแล้ว ไปเช็คข้อมูลล่าสุดว่า ทำไปได้แค่ไหนก่อนถึงศึกเลือกตั้ง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สนามบินดอนเมือง - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ว่า ความคืบหน้าล่าสุด งานส่งมอบพื้นที่ช่วงนอกเมือง สุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา ให้เอกชน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 พร้อมเดินหน้าก่อสร้างแล้ว 

ส่วนงานส่งมอบพื้นที่ในเมือง ช่วงดอนเมือง -พญาไท มีความคืบหน้าแล้ว 73.75 % เตรียมส่งมอบให้เอกชนภายในเดือนตุลาคม 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2572

รายละเอียดรถไฟความเร็วสูงไทย

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีระยะทางทั้งสิ้น 220 กิโลเมตร วงเงิน 224,544 ล้านบาท โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทจะตกเป็นของรัฐ 

 

ภาพประกอบข่าว รถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน

รูปแบบการก่อสร้าง

ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา

พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมกรุงเทพฯ กับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที 

แนวเส้นทางรถไฟความเร็งสูง

ส่วนแนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา 

 

ภาพประกอบข่าว รถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน

ประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูง 

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี กำลังเร่งผลักดันโครงการนี้ เนื่องจากเห็นประโยชน์ ที่จะตามมานอกจากมีระบบรางเชื่อมเชื่อมสามสนามบิน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักใน EEC เพราะมองว่า มีประโยชน์ เช่น การเดินทางที่สะดวกทันสมัย ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และสร้างการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 1 แสนตำแหน่ง 

ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดเมืองใหม่ที่เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่สองข้างทางที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน สามารถเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน โดยนายกฯ กำชับให้โครงการดำเนินการอย่างโปร่งใส และรัดกุม

 

ภาพประกอบข่าว รถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน