“จุฬา สุขมานพ” ผงาดนั่งเลขาธิการ EEC คนใหม่

28 ธ.ค. 2565 | 11:21 น.

บอร์ด EEC ไฟเขียวตั้ง “จุฬา สุขมานพ” ผงาดนั่งเลขาธิการ EEC คนใหม่ แทนนายคณิศ แสงสุพรรณ ที่หมดวาระ พร้อมรับทราบการขับเคลื่อน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบให้ นายจุฬา สุขมานพ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ EEC คนใหม่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ แทนนายคณิศ แสงสุพรรณ ที่หมดวาระไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ยอมรับว่า เลขาฯ EEC คนใหม่ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งสามารถเข้ามาขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ได้ และในเร็ว ๆ นี้ จะนัดหมายนายจุฬา มาหารือ ขณะเดียวกันในขั้นตอนต่อไป จะเข้ากระบวนเจรจาค่าตอบแทน สัญญาจ้าง รวมทั้งขอบเขคการทำงานต่อไป และเมื่อเจรจาเสร็จแล้ว จะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามตามขั้นตอนต่อไป

 

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการ EEC

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ ได้รับทราบความก้าวหน้าภารกิจขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ที่สำคัญ ๆ ดังนี้ 

1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 

 

ทาง รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่โครงการ (ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และพื้นที่มักกะสันและศรีราชาให้แก่เอกชนแล้ว โดยเอกชนเข้าดำเนินการเตรียมการก่อสร้าง และขณะนี้อยู่ระหว่างรอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน จากบีโอไอ ซึ่งเมื่อได้รับจะทำให้เงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาครบถ้วน และจะเริ่มการก่อสร้างได้ ทั้งนี้ในส่วนการบริหารงานการให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ปัจจุบันเอกชนได้เข้าดำเนินการตามมาตรฐานที่ดี ซึ่งตรงตาม KPI ที่ รฟท. กำหนด

 

2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 

 

หลังจากเอกชนคู่สัญญา และกองทัพเรือ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการใช้สนามบินอู่ตะเภาร่วมกัน และรายงาน EHIA ได้รับการอนุมัติจาก ครม. โดย สกพอ. ได้แจ้งให้เอกชนรับสิทธิตามสัญญาแล้ว เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 การดำเนินงานต่อไป สกพอ. จะแจ้งให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2566 หลังจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน 

 

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการสนามบินอู่ตะเภา จากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเชีย-ยูเครน ปัจจุบันคู่สัญญาได้เจรจาหลักการแก้ไขปัญหา และได้นำเสนอต่อคณะทำงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทั้ง 2 โครงการ โดยพิจารณาให้ความเห็นด้านเทคนิค การเงินและกฎหมายแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนำความเห็นไปปรับปรุง และจะนำเสนอให้ที่ประชุม กพอ. พิจารณาต่อไป

 

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการ EEC

3. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 

 

เริ่มงานออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้ว โดยขณะนี้ ความก้าวหน้างานถมทะเลตามแผนงาน 28.18% แต่ดำเนินการได้จริง 31.57% เร็วกว่าแผนงาน 3.39% ส่วนการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตาม EHIA ได้จัดตั้งมูลนิธิกองทุนฯ และดำเนินการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มประมงพื้นบ้าน 855 ราย รวมทั้งมีการสนับสนุนพัฒนาอาชีพให้ชุมชน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง สำหรับท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569

 

4. โครงการท่าเรือแหลมฉบัง 

 

เริ่มต้นการก่อสร้างงานทางทะเล โดยพื้นที่ถมทะเลช่วงที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จ ส่วนการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตาม EHIA ได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาแก่กลุ่มประมงเรือเล็กและกลุ่มผู้เลี้ยงหอยตั้งแต่ปี 2564 การจัดทำ EHIA ของท่าเทียบเรือ F ได้ส่งให้ สผ. แล้ว กำหนดเปิดบริการท่าเทียบเรือ F ในปี 2569

 

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการ EEC

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าอีอีซี ในด้านอื่นที่สำคัญ ๆ อาทิ การผลักดันและเร่งรัดการลงทุนระยะที่ 1 (2561 – 2565) เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.92 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท พื้นที่ อีอีซี ก้าวสู่ที่ตั้งฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า EV แห่งภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว BCG model ขับเคลื่อนระบบ Automation ในโรงงานและธุรกิจช่วยลดต้นทุนได้กว่า 30%