ล้วงลึก"เทรนด์ท่องเที่ยว ปี2566" สร้างโอกาสธุรกิจ ก้าวข้ามโควิด-19

28 ม.ค. 2566 | 05:30 น.

การท่องเที่ยวในปีนี้ เติบโตชัดเจน เมื่อปัจจุบันผู้คนก้าวข้ามผ่านโควิด กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งเทรนด์การท่องเที่ยวในปี 2566 นักท่องเที่ยวมีความหวังใหม่และพฤติกรรมใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัดเจน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองว่า เริ่มต้นปี 2023 ดูเหมือนว่าการท่องเที่ยวจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา อันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี นำไปสู่การเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวตื่นตัวพร้อมออกเดินทาง ภายใต้ความคาดหวังใหม่ๆ และพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา

องค์กรด้านการท่องเที่ยวต่างคาดการณ์เทรนด์ท่องเที่ยวปี 2023 หลายรูปแบบ แต่แนวคิดสำคัญมองว่านักท่องเที่ยวจะประยุกต์การท่องเที่ยวควบคู่การจัดระเบียบสมดุลชีวิตระหว่างภาระหน้าที่และการเติมเต็มความสุขส่วนบุคคล Travel Trend 2023 จึงมีความคาดหวังใหม่และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป หลังยุคโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็น

1.“บ้าย บาย โลกภายนอก” โลกภายนอกในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างหนักพอสมควร นักท่องเที่ยวราวๆ 69% กำลังมองหาการพักผ่อนแบบตัดขาดจากโลกภายนอก (Off Grid) เช่น ออกไปแคมป์ปิ้ง จุดไฟ ทำอาหารเอง หรือหาแหล่งนํ้าตามธรรมชาติ ตัดขาดจากเทคโนโลยี เผชิญความลำบาก เพื่อหาความหมายของชีวิต ฝึกทักษะการเอาชีวิตรอด  

2. โหยหา ‘วันวานยังหวานอยู่’ นักท่องเที่ยวกว่า 88% มีแนวโน้มเลือกไปท่องเที่ยวที่มีความทรงจำประทับใจในอดีต ย้อนกลับไปสถานที่ที่เคยไป  เช่น การท่องเที่ยวเมืองเก่า ทำกิจกรรมสไตล์ยุค 80-90 กลับไปเดินงานวัด สวนสนุก ชิมอาหารท้องถิ่น นักท่องเที่ยววัยผู้ใหญ่จะใช้โอกาสนี้เชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัวที่มีหลากหลายเจนเนอเรชั่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

3.ก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัย นักเดินทาง 73% อยากไปสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่เคยไปมาก่อน มีความท้าทายแบบที่เรียกว่า ‘ออกจาก Comfort Zone’ หวังจะใช้เวลาท่องเที่ยวไปกับการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยเปลี่ยนสไตล์การท่องเที่ยวสู่รูปแบบที่ไม่คุ้นเคย เช่น ท่องเที่ยวแบบไร้แผน “คํ่าไหน นอนนั่น” ทดลองกินอาหารเปิปพิสดาร 

4. ไม่ประหยัดแต่คุ้มค่า ผลสำรวจชี้ว่า 82% ของนักท่องเที่ยวที่วางแผนจะออกเดินทางหลังปี 2022 จะให้ความสำคัญกับ ‘ความคุ้มค่า’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะมองหาทริปประหยัดที่ราคาถูกที่สุด แต่ค่าใช้จ่ายที่เสียไปต้องสมเหตุสมผลกับบริการที่ได้รับนักท่องเที่ยวจะจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น เช่น เลือกที่จะจองห้องพักกับโรงแรมโดยตรง วางแผนท่องเที่ยวนอกฤดูกาล หรือวางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้ามากขึ้น

5. ไปต่อกับความยั่งยืน ปี 2023 นักท่องเที่ยวยังรู้สึกดีกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กว่า 63% มีความตั้งใจจะท่องเที่ยวแบบยั่งยืนแม้อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หรือประมาณ 57% ยอมรับความเสี่ยงของทริปท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่าอาจมีความสะดวกสบายลดลงหรือมีทางเลือกน้อยกว่าปกติ

6. โลกเสมือนที่รอคอย ผลสำรวจชี้ว่านักเดินทางประมาณ 72% กำลังวางแผนท่องเที่ยวผ่านโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อการพักผ่อน การเรียนรู้ ความบันเทิงและแสวงหาแรงบันดาลใจ สำหรับเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส อาจเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต เมื่อผู้คนสัมผัสโลกเสมือนแล้ว ผู้คนจะถอดแว่น VR หันมาสวมแว่นกันแดดและกล้าที่จะออกไปท่องเที่ยวมากขึ้น

ขณะที่เหตุผลของการเดินทางท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จากการสำรวจล่าสุดของ Agoda พบว่า “วัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวในปี 2023” ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2023 การไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัวเป็นเหตุผลที่นักเดินทางทั่วโลกเลือกเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพจิตสุขภาพใจ (อันดับที่ 2) และเหตุผลด้านอาหาร ศิลปะและวัฒนธรรม (อันดับที่ 3) การออกไปผจญภัยพบเจอโลกกว้าง (อันดับที่ 4) และท้ายสุดเพื่อการ เฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญต่างๆ ของชีวิต (อันดับที่ 5)

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยนั้น ผลสำรวจจากอโกด้าพบว่า การเดินทางเพื่อไปรีชาร์จพลังกายพลังใจเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งที่คนไทยเลือกในการเดินทางในปี 2023 ตามมาด้วยการได้กลับไปพบปะรวมตัวกับญาติและเพื่อนฝูง และเหตุผลต่อมาในลำดับที่สามนั้นคือ การได้ไปลิ้มรสอาหาร ศิลปะและวัฒนธรรมต่างถิ่น

เทรนด์ท่องเที่ยวปี 2566

ขณะเดียวกันจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้การกลับมาของการท่องเที่ยวในวันนี้ ธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อสร้างโอกาส และพลิกโฉม “การท่องเที่ยวไทย” ให้เป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยว อาทิ การสร้างแบรนด์ ดีไซน์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และเวลเนส

วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวในงาน Thailand Tourism Forum 2023 หรือ TTF 2023 ว่า บทบาทของแบรนด์มีความสำคัญในการปรับการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แบรนด์เป็นหัวใจสำคัญในการประกอบธุรกิจ

วัลลภา ไตรโสรัส

การที่ AWC มีหลากหลายแบรนด์ ในหลายเดสติเนชั่นก็ทำให้เกิดความหลากหลายในการสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า สร้างโปรดักซ์ที่แตกต่าง เชื่อมโยงการขาย เพื่อสร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆด้วยเช่นกัน

เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวมองหาประสบการณ์ที่แตกต่างในการสร้างความสุข เราเชื่อว่า จำเป็นต้องมองหาความร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อสร้างโครงการที่ไม่เหมือนใครซึ่งรวมเข้ากับจุดหมายปลายทาง และการนำชุมชนท้องถิ่นมาสู่ประสบการณ์โรงแรม ควรเป็นการเดินทางของลูกค้าแบบบูรณาการ

“ลิซ เพอร์กินส์” รองประธานอาวุโส การจัดการรายได้และบริการเชิงพาณิชย์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฮิลตัน กล่าวว่า ปัจจัยที่จะมาดีสทรัปธุรกิจโรงแรม คือ ลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญ เราเซอร์เวย์พบว่าลูกค้าต้องการการเดินที่ง่ายขึ้น มีความหมายในการเดินทางมากขึ้น

ดังนั้นเราต้องสร้างโซลูชั่นที่สร้างประสบการณ์ที่ดีเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้า เช่น กุญแจดิจิทัล ลูกค้าเช็คอินได้เองไม่ต้องมาที่เคาท์เตอร์ เช็คอิน หรือกลุ่มครอบครัว ซึ่งควรมีบริการคอนเนคติ้ง รูม

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างเทคโนโลยีและผู้คน กุญแจสำคัญคือการผสานทางกายภาพและดิจิทัลให้สำเร็จเพื่อสร้างการเดินทางที่ราบรื่น”

“พราวพุธ ลิปตพัลลภ” ผู้บริหารกลุ่มพราว กล่าวว่า เมื่อก่อนธุรกิจโรงแรมสร้างรายได้สมํ่าเสมอ แต่โควิด พลิกผันทำให้เกิดการเรียนรู้ โรงแรมไม่ใช่แค่ ผลิตภัณฑ์อย่างเดียวเท่านั้น ทำไงต้องทำ ให้สร้างประสบการณ์ที่ยูนีคและแตกต่าง เพราะการเดินทางไม่ถูกเหมือนก่อน ทำไงเราจะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ กับประสบการณ์ที่เพิ่มขี้น และการรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ อย่างกลุ่ม young traveler

“แจสเปอร์ ปาล์มควิส” ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่ STR นักวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมโรงแรม ได้นำเสนอข้อมูลสำคัญล่าสุด เอเชียแปซิฟิก เอสทีอาร์ (STR) และตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาในไทยในปีนี้

ล้วงลึก"เทรนด์ท่องเที่ยว ปี2566" สร้างโอกาสธุรกิจ ก้าวข้ามโควิด-19

โดยรายงานเผยว่า การท่องเที่ยวภาคใต้ของไทยกำลังมีฐานธุรกิจที่ดีจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อัตราการเข้าพัก (occupancy) ในช่วง 90 วันข้างหน้า (นับจากวันที่ 2 มกราคม 2566) แบ่งตามจุดหมายปลายทางดังนี้ ชะอำ/หัวหิน ยอดจองมากกว่า 50% กรุงเทพฯ และพัทยา ยอดจองมากกว่า 70% พัทยา และภาคใต้ของไทยยอดจองมากกว่า 75%

เมื่อเปรียบเทียบยอดเข้าพักของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงวันหยุดยาว (28 กันยายน - 9 ตุลาคม) ย้อนหลัง 4 ปี พบว่า ปี 2019 - 2022 อัตราเข้าพักของนักท่องเที่ยวจีนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างตํ่าในแต่ละปี จึงส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนไต่ระดับขึ้น การกลับมาของตลาดนักท่องเที่ยวจีน จึงมีความสำคัญกับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้

ทั้งหมดล้วนเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวปี 2023 ที่เป็นการถอดบทเรียนจากโควิด เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจรับการท่องเที่ยวที่ทยอยกลับมาฟื้นตัวในปีนี้