โรงแรม-สายการบิน ปรับราคาขาย 12-20% รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้น

23 ม.ค. 2566 | 07:28 น.

โรงแรม-สายการบิน ปรับราคาขาย 12-20% รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้น-ไฮซีซั่น ด้านกพท.ยันการปรับขึ้นราคาตั๋วเครื่องบินยังคงเป็นไปเพดานที่กำหนด เช็คเพดานราคาได้ที่นี่

จากดีมานต์นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยพุ่ง ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มทยอยปรับราคาขายเพิ่มขึ้น หลังอั้นมานานกว่า 3 ปี ทีเอชเอ เผยโรงแรมทยอยปรับค่าห้องพักเพิ่ม 7-12% รับไฮซีซั่น โรงแรมติดทะเลภูเก็ต ทะลุ 1 หมื่นบาทต่อคืน ขณะที่ค่าตั๋วเครื่องบินในประเทศราคาเพิ่ม 20% กพท.ยันการปรับขึ้นราคายังคงเป็นไปเพดานที่กำหนด

จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง แม้จะยังไม่เท่าช่วงกับก่อนเกิดโควิด-19 แต่ก็ถือว่ามีทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญหากเทียบกับปี 2564 และด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจสามารถปรับราคาขายขึ้นได้บ้าง หลังจากอั้นมานานกว่า 3 ปี

นางสาวประชุม ตันติประเสริฐสุข ประธานฝ่ายการตลาด สมาคม โรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในปีนี้คาดว่าธุรกิจโรงแรมจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่าง น้อย 7-12% เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อ หลังจากไม่ได้ปรับราคามานานกว่า 3 ปี

ประชุม ตันติประเสริฐสุข

โดยในปีนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ทำให้โรงแรมสามารถปรับราคาขึ้นได้ อย่างโรงแรมระดับ 5 ดาวที่ภูเก็ต ช่วงไฮซีซันนี้ ราคาไม่ตํ่ากว่า 9,000- 10,000 บาทต่อคืน ส่วนช่วงโลว์ซีซัน ราคาก็ไม่ตํ่ากว่า 4,000 บาทต่อคืน

สำหรับผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรมเดือนธันวาคม 2565 พบว่า อัตราการเข้าพัก เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเข้าสู่ ช่วง High Season ปลายปี และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคใต้ ทั้งนี้คาดการณ์อัตราการเข้าพัก โดยรวมในเดือน ม.ค. 66 อยู่ที่ 60%

โดยส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 10-30% และคาดว่ารายได้จะกลับสู่ระดับก่อนโควิดภายในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว และปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจเป็นกังวลหลักของผู้ประกอบการในปี 2566 ซึ่งการเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยในทุกด้าน เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักของชาวจีน

 

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC  เผยว่า แนวโน้มการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ถือว่าดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามาก  บางโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย80-90% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19  

วัลลภา ไตรโสรัส

ส่งผลให้ราคาค่าห้องพักเฉลี่ยของ AWC สามารถปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น บางโรงแรมเพิ่มขึ้นได้กว่า 20% เนื่องจากตรงกับช่วงไฮน์ซีซัน ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศเริ่มเดินทางเข้าไทยได้มากขึ้น จากจำนวนเที่ยวบินต่างๆที่ทำการบินเข้าไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

รวมทั้งการเปิดประเทศของจีน ก็ทำให้ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT (เดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง)เดินทางเข้าไทยมาก่อนในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ส่วนกรุ๊ปทัวร์จีนในขณะนี้ยังไม่มาก คงต้องใช้เวลาประกอบกับด้วยราคาตั๋วเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจึงเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ ซึ่งก็ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของ AWC ที่เราโฟกัสตลาดไฮเอนท์เป็นหลัก

 

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชียกล่าวว่า จากตั๋วเครื่องบินที่ปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินภายในประเทศ เกิดจากต้นทุนนํ้ามันเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้น จากเมื่อก่อนอยู่ที่ 60-80 เหรียญต่อบาเรล เพิ่มเป็น 100-150 เหรียญต่อบาเรล และตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. อนุญาตให้สายการบินนำ “ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับนํ้ามันเชื้อเพลิง” (The Fuel Cost Fluctuation) รวมอยู่ในค่าโดยสารเเล้ว

โรงแรม-สายการบิน ปรับราคาขาย 12-20% รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้น

สายการบินต่างๆ ก็ขึ้นราคาตั๋วในประเทศอยู่ที่ 20% เท่านั้น เพื่ออย่างน้อยก็เป็นการแบ่งเบาภาระของสายการบินระดับหนึ่ง ไม่ได้ปรับขึ้นเต็มจำนวน ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศ ค่าโดยสารในปีนี้มีทิศทางการปรับขึ้นในทิศทางบวก เนื่องจากสายการบินมีอัตราการบรรทุกของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 87-88%

อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารในประเทศของสายการบินต่างๆ ที่เกิดขึ้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ได้ตรวจสอบแล้วว่าการปรับขึ้นราคายังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กพท.กำหนด ซึ่งเพดานค่าโดยสาร(ต่อเที่ยวบิน)สำหรับบริการของสายการบินต้นทุนตํ่าอยู่ที่ไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร และสำหรับบริการของสายการบินฟูลเซอร์วิส อยู่ที่ไม่เกิน 13 บาทกิโลเมตร

อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ระยะทาง 698 กม. ตั๋วเครื่องบินราคาไม่เกิน 6,561 บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ และราคาไม่เกิน 9,074 บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับการใช้บริการสายการบินฟูลเซอร์วิส เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 566 กม. ตั๋วเครื่องบินราคาไม่เกิน 5,320 บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ และราคาไม่เกิน 7,358 บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับการใช้บริการสายการบินฟูลเซอร์วิส

เพดานราคาตั๋วเครื่องบิน เส้นทางบินในประเทศ

ทั้งนี้ตั๋วเครื่องบินที่มีราคาแพง เกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ต้นทุนสายการบินเพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคานํ้ามันสูงขึ้น 2. มีการเดินทางในช่วงเวลาที่มีความต้องการเดินทางสูง เช่น ช่วงไฮซีซัน, วันหยุดยาว 3. ระยะเวลาในการจองตั๋วโดยสาร เช่น จองตั๋วยิ่งกระชั้นชิดยิ่งแพง และ 4.ซื้อบัตรโดยสาร ประเภทที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือมีบริการพิเศษเพิ่มเติม

ดังนั้นกพท.แนะให้ประชาชนเปรียบเทียบราคากับสายการบินอื่นๆ รวมถึงปรับแผนการเดินทาง และหากพบว่าค่าโดยสารเกินเพดานที่กำหนดให้แจ้งมายัง CAAT

ขณะที่หากผู้โดยสารต้องการที่จะซื้อตั๋วโดยสารให้ได้ราคาถูก ผู้โดยสารควรจะจองในช่วงที่สายการบินจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดใจ โดยค่าโดยสารลักษณะนี้จะมีจำกัด รวมถึงควรจะมีระยะเวลาในการจองตั๋วล่วงหน้า

เช่น จองตั๋วล่วงหน้ายิ่งนานยิ่งถูก และการทำตลาดของสายการบินในเส้นทางที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีเที่ยวบินมาก ดังนั้นการวางแผนในการเดินทางและจองตั๋วล่วงหน้านานๆ ก็จะได้ราคาค่าโดยสารที่ถูกกว่านั่นเอง